“ในช่วงครึ่งปีหลังดูภาพใหญ่สหรัฐจะดูดีกว่ายุโรป รวมถึงตลาดเกิดใหม่จะโดนสหรัฐเล่นงานทำให้ดูแล้วตัว Fund Flow ไปทางสหรัฐ แต่อาจจะเข้าๆออกๆไม่ได้เข้าแบบ One Way แต่มีความผันผวนจาก Trade War ที่คาดว่าจะเป็นกระแสกดดันไปจนถึงเดือนตุลาคม จากนั้นก็อาจจะเบาลง”
ดร.บุญธรรม ช่วยวิเคราะห์สถานการณ์โลกกับสถานการณ์ไทยยามนี้หน่อยว่าจะกระทบกับการลงทุนอย่างไรบ้าง
ผมมองว่าตอนนี้เหมือนจังหวะของการลงทุน และการค้าโลกอย่างสหรัฐ เปลี่ยนสไตล์เป็นแบบอินดี้หน่อยๆ คือ จะไม่ค่อยแคร์กับตัวกลุ่มการค้าอย่าง G8 เท่าไหร่นัก เหมือนเอาตัวเองเป็นหลัก และเริ่มตั้งกำแพงภาษีต่างๆ ไปเกือบทุกประเทศแล้ว ทั้งยุโรปและ New Market โดนกันหมดเป็นเหมือนลูกโซ่ และเรื่องการค้าระหว่างประเทศถ้ามันกระทบไปสักพัก คือไม่นานก็จะเริ่มเข้ามาสู่ระบบการเงินระหว่างประเทศ คือ การค้ากับการเงินระหว่างประเทศเหมือนเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน การค้าระหว่างประเทศถ้าเจอปัญหาสักระยะหนึ่ง ไม่นานมาก การเงินหรือการลงทุนระหว่างประเทศก็จะโดนด้วย
อย่างของไทย ก็โดนด้วย แม้ว่าการสำรองเงินตราระหว่างประเทศค่อนข้างแข็งแรงติดอันดับโลก และยังเกินดุลการค้าเงินอยู่ คือเราก็โดนด้วย เพราะว่าถ้าการค้าระหว่างประเทศมีปัญหาเพราะมีเรื่องการตั้งกำแพงภาษี สักพักจะเข้าสู่เรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ …
จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีผลกระทบแล้ว แม้ว่าเราจะมีตัวเลขเกินดุลการค้า เนื่องจากในช่วงหลังเรื่องสงครามการค้า Trade War อเมริกากับจีนมีผลกระทบมากขึ้น ถ้าจีนได้รับผลกระทบก็ต้องกระเทือนถึงไทยด้วย ซึ่งระหว่างไทยกับจีนมีลักษณะความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจหรือการลงทุนมากขึ้นจนจะแซงสหรัฐ จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างโดนกระทบไปพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมาที่หุ้นลงแรงมาก 6% และถ้ามองจากต้นปีเท่ากับตลาดหุ้นลดลงมาประมาณ 20%
ประเด็น คือ เมื่อเดือนที่แล้วอินโดนีเซียดูเป็นเป้าที่ใหญ่เพราะมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ อินโดนีเซียโดนเปรียบเทียบกับตุรกีและอาร์เจนตินาพอสมควร แต่อินโดนีเซียสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตที่ผ่านมาเกิดจากการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงประมาณ 10 วัน โดยผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย นายเพอร์รี่ วาร์จิโย ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 10-12.5% และเงินเฟ้อสูงกว่า GDP Growth ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็โดนด้วย แต่ถ้าเปรียบเทียบ ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียเทียบกับผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และ ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียที่เพิ่งเปลี่ยนคนเมื่อกลางเดือนมิถุนายน คือ ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ดูค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน และฟิลิปปินส์โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขาดดุลเดินสะพัด มีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ช่วงที่ผ่านมานี้ฟิลิปปินส์จึงเป็นเป้าค่อนข้างเยอะจากเฮดจ์ฟันด์ เพราะการบริหารเศรษฐกิจจะเป็นรองอินโดนีเซีย
จากบรรยากาศเช่นนี้ หากมองในมุมอาเซียน คิดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ส่วนไทยน่าจะเป็นหลังเลือกตั้งใหญ่
ดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีการโจมตีค่าเงินในอินโดนีเซียและโดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม TIP คิดว่ามีโอกาสจะมาเกิดแบบเดียวกันที่เมืองไทยมากน้อยแค่ไหน
ต้องบอกว่า ณ จุดนี้กลุ่มตลาดเกิดใหม่ไม่ว่าจะเป็น ตุรกี บราซิล หรือ อาร์เจนตินา ก็โดนกันหมด คือ อาร์เจนตินา เข้าโปรแกรม IMF ไปแล้ว คือ ในกลุ่มประเทศ Emerging Markets Top 3 ซึ่งค่อนข้างมีพื้นฐานเศรษฐกิจอ่อนแออยู่แล้ว แต่ในช่วงที่ดอลลาร์เริ่มแข็งค่าและราคาน้ำมันขึ้น เรียกว่าสิ่งแวดล้อมแบบนี้ค่อนข้างที่จะเป็นที่ชื่นชอบของนักเก็งกำไรให้พุ่งเป้าไปโจมตีที่ตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะถ้าดอลลาร์แข็งและน้ำมันขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่อ่อนแอ
ในมุมไทย นับจากช่วงเดือนเมษายนจนถึงกลางมิถุนายน 2561 ดูจะไม่กระทบอะไร เราคิดว่าเรามีภูมิคุ้มกันดี แต่นักเก็งกำไรพุ่งไปที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก่อน ในมุมหนึ่งปกติถ้าเป็น Trade War ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำกับจีนเป็นหลักและยุโรปและบางประเทศ ภูมิคุ้มกันของไทยในบริษัทที่มีการเงินที่เป็นบวกไม่ได้ช่วยแก้ความเสี่ยงเรื่อง Trade War มากนัก อาจจะแก้ความเสี่ยงเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินได้ แต่ถ้าเกิดเป็นลักษณะ Trade War ภูมิคุ้มกันที่ดีอาจจะช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะไม่มีเกิดการกระตุ้น Trade War จะกระทบต่อเศรษฐกิจจริงด้วย เรื่องการนำเข้าและส่งออกจะมีปริมาณที่ลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้มองว่าไทยในส่วนที่เป็นพอร์ตที่โตขึ้นในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาอาจจะต้องชะลอตัวลง ถ้าเกิด Trade War ผลกระทบค่อนข้างกระจายตัวไม่เยอะ
ในเชิงวิชาการมีสิ่งหนึ่งที่ดูว่าสงครามการค้า Trade War ไม่น่ากลัว …แต่จะน่ากลัวตรงที่ถ้าทุกๆ ประเทศหรือนักลงทุน-นักวิเคราะห์คิดคล้ายๆกันหมดว่าปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างไม่ดี เกิดวิกฤตแล้ว และกลายเป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่าอุปทานหมู่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในบางครั้งในยุโรปช่วงยุค 1990 ที่มีความกังวลเหมือนกันกับอาร์เจนตินา จีน และบราซิล ตัวเลขเริ่มจะชัดว่าจะเกิดวิกฤตมากกว่าที่จะเป็นเรื่องชั่วคราว ตรงนี้โอกาสไม่ได้สูง แต่เราต้องมองในลักษณะลูกโซ่ให้มากกว่าในไตรมาสที่แล้ว
หากมองปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นทั่วโลกกังวลกันว่าจะเจอสภาพสงครามการค้า ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ดอกเบี้ยขาขึ้น แต่สำหรับกลุ่ม TIP ยังมีเรื่องเฉพาะตัวเพิ่มเข้ามาด้วย นั่นคือเรื่องความอ่อนแอการบริหารการจัดการทางการเงิน ทุนสำรอง เรื่องการโจมตีค่าเงิน
ถูกต้องครับ…. คือจริงๆ กลุ่ม TIP ถ้าเทียบเป็นลักษณะของพื้นฐานเศรษฐกิจ กลุ่ม TIP ยังแข็งแรงกว่าพวกตุรกี อาร์เจนตินา และ บราซิล และในกลุ่ม TIP ด้วยกันไทยก็แข็งแรงกว่าเพื่อน เพราะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีสภาพเรียกว่าน้องๆ อาร์เจนตินา ถ้าวัดเป็นตัวเลขอาร์เจนตินามีพื้นฐานอ่อนแอ 100% แต่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อ่อนแอกว่าเขาครึ่งหนึ่ง ถ้าตัวเลขแย่ไปอีก 50% ก็เท่ากับตัวอาร์เจนตินาแล้ว โดยเฉพาะดอลลาร์ที่แข็งค่าและราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น พวกนักลงทุนจะโจมตีตลาดหุ้น ตลาดทุน หรือ ตลาดฟอร์เร็กซ์ ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกลุ่ม TIP ….ผมคิดว่าที่ไทยโดน 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากที่ไทยเริ่มมีการค้าและการเงินเชื่อมโยงกับจีนเยอะขึ้น พอดีว่าจีนเป็นศัตรูเบอร์ 1 กับ Trade War ของสหรัฐ ทำให้จีนกับไทยมีความเชื่อมโยงถึงกัน
ตามที่บอกว่า ภาวะที่ดอลลาร์แข็งและน้ำมันขึ้น มักจะเป็นจุดที่เฮดจ์ฟันด์ชอบใช้เป็นจังหวะโจมตีกลุ่มประเทศอ่อนแอ…ช่วยประเมินหน่อยว่า ทิศทางน้ำมันจะเป็นอย่างไร เพราะเพิ่งมีประชุมโอเปกมาไม่กี่วัน
ในการประชุมโอเปกช่วงที่ผ่านมา คิดว่ารัสเซียและซาอุดีอาระเบียมีความต้องการจะขึ้นอุปทาน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มองว่าราคาน้ำมันเบรนท์และ WTI ที่ประมาณ 67-77 ดอลลาร์ โดยมีจุดพีคที่ 70 กับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น่าจะเป็นจุดพีคในไตรมาสนี้หรือน่าจะลงถึงสิ้นปีนี้ก็ได้ ราคาน้ำมันระดับนี้ถือว่าก้ำกึ่ง…จะถือว่าสูงมากก็ไม่ได้…แต่ก็ไม่ต่ำกว่านี้แล้ว คือ เป็นจุดที่ถ้าเศรษฐกิจประเทศไหนอ่อนแอก็อยู่ในขั้นลงทุนได้ ส่วนค่าเงินดอลลาร์มองว่าดอลลาร์ในช่วงนี้ยังแข็งต่อได้อีก แต่ไม่ได้แข็งแบบทีเดียวพรวดเดียว
ตั้งข้อสังเกตว่า ปีหน้าธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ จะเปลี่ยนรุ่นเปลี่ยนคนทำหน้าที่กันใหม่ ช่วงเดือนกันยายนของเยอรมันจะหมดวาระ ซึ่งว่ากันว่าที่เต็งหนึ่งที่จะมา คือ ประธานของ Deutschebank Bundesbank ขึ้นชื่อว่าเยอรมันค่อนข้างกลัวเงินเฟ้ออยู่แล้ว และชอบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทำให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่า นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ก็จะหมดวาระก่อนในเดือนมิถุนายน 2562 คนที่จะขึ้นมาแทนก็มองกันว่าน่าจะชอบขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกัน หรืออย่างแบงก์ชาติญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะร้อนแรงและดึงค่าเงินเยน ช่วงนี้ค่าเงินเยนหากมีอะไรเสี่ยงจะเซฟไว้ก่อน
ส่วนอเมริกา มองว่าเงินดอลลาร์จะแข็งไปถึงปีหน้าก่อนจากนั้นถึงจะค่อยอ่อนค่าลง คิดว่าตอนนี้ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินการเรื่องสงครามการค้าและหุ้นขึ้นค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งทรัมป์ต้องเอาใจคนผิวขาวที่เป็นชนชั้นกลาง และชนชั้นกลางถึงล่างด้วยซ้ำไป คนอเมริกันที่เป็นคนผิวขาวค่อนข้างจะไม่ชอบจีน เพราะมองว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐไม่ดีมาก ส่วนหนึ่งมาจากจีนเอาเปรียบด้วยเรื่องการค้า โดนัลด์ ทรัมป์ จึงต้องจัดการให้คนอเมริกันเห็น … เหมือนเป็นผลของเรื่องการเมือง ผมมองว่า จนกระทั่งประมาณเดือนตุลาคมนี้ Trade War น่าจะไปถึงจุดพีคแล้ว มองว่าในต้นปีหน้าถ้าจะเกิดลักษณะวิกฤตเกิดใหม่ในช่วงประมาณ Q3 และช่วงต้น Q4 จะเป็นช่วงพีคที่สุดเพราะว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งสุดในช่วงนี้ ตัว Trade War จะแรงสุดในช่วงดังกล่าว ถ้าผ่านพฤศจิกายนและธันวาคมคิดว่าปีหน้าเป็นช่วงที่ถ้ามองถึงวิกฤตตลาดเกิดใหม่ ความเสี่ยงต่างๆ จะลดลงเยอะ ราคาน้ำมันนิ่งพอสมควร Trade War น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ค่าเงินดอลลาร์น่าจะพีคในลักษณะแข็งค่าสุดใน ไตรมาส 3-ไตรมาส 4 ของปีนี้ มองว่าครึ่งปีหลังนี้นักลงทุนอาจจะต้องยันให้เต็มที่ เพราะวิกฤตตลาดเกิดใหม่ สิ่งแวดล้อมเอื้อให้พวกนักเก็งกำไร เฮดจ์ฟันด์มาโจมตีค่าเงินและโจมตีตลาดหุ้น ตลาดเงิน
ดังนั้นคือในครึ่งปีหลัง กระแสเงินทุน ฟันด์โฟลว์จะไหลไปที่อเมริกาก่อน
คิดว่าในช่วงนี้ไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้เศรษฐกิจจริงของสหรัฐ ถือว่าฟื้นจริงๆ แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะมี 4 ครั้งในปีนี้ … โดยในช่วงปลายปีต้องมาดูอีกรอบว่า ถ้าขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4 ครั้งเศรษฐกิจจะไปได้ไหม ถ้าไปไม่ได้ ก็ต้องชะลอนิดหน่อย ซึ่งจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีสหรัฐจะไม่มีเงินเข้าเยอะ หรือเข้าออกนิดหน่อย เพราะว่านักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ในสายตะวันตกจะมอง Trade War ในทางลบ คือ มีผลแย่ต่อสหรัฐอยู่มาก
ในอีกมุมหนึ่งความเสี่ยงของสหรัฐ คือ เศรษฐกิจโลก หรือ การลด Balance Sheet ของเฟด ถ้าเลิกปฏิบัติการเมื่อไหร่ต้องจับตา เพราะโลกไม่เคยเจอปรากฏการณ์ว่าจะลดตัวงบฯ แบบเยอะๆ
นอกจากนี้ ความเสี่ยงหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงครึ่งปีหลัง คือ ยุโรปมีความเสี่ยงทางด้านการเมือง มีผู้นำคนใหม่ไม่ชอบร่วมมือกับทางยุโรป อย่างอิตาลี อีกประเด็น คือ ผู้อพยพ โดนัลด์ ทรัมป์ เล่นงานผู้นำเยอรมันพอสมควร Fund Flow จึงน่าจะไปทางสหรัฐมากกว่ายุโรป ที่อังกฤษ ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ยกมือว่าอยากให้ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า มองว่าอังกฤษมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนสิงหาคมนี้ และอาจจะทำให้บีบธนาคารยุโรป เน้นให้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น
ทำให้สหรัฐในช่วงครึ่งปีหลังดูภาพใหญ่จะดูดีกว่ายุโรป รวมถึงตลาดเกิดใหม่จะโดนสหรัฐเล่นงานทำให้ดูแล้วตัว Fund Flow ไปทางสหรัฐ แต่อาจจะเข้าๆออกๆไม่ได้เข้าแบบ One Way แต่มีความผันผวนจาก Trade War ที่คาดว่าจะเป็นกระแสกดดันไปจนถึงเดือนตุลาคม จากนั้นก็อาจจะเบาลง
นโยบายการเงินไทยของไทย กนง.ควรจะออกมาแบบไหน เพื่อจะรับมือกับเรื่องพวกนี้
มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ในช่วงนี้หรือในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะไม่ได้ช่วยอะไร เพราะว่า Fund Flow ที่ออกเป็นเพราะจากเรื่องการค้ามากกว่าที่จะเป็น Fund Flow จากเงินตรา คือ เบื้องต้นกังวลเรื่องการค้าระหว่างประเทศว่าจะหดลงในหลายภูมิภาคหลัก ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยมากนัก ยกเว้นอาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 90 ดอลลาร์ เพราะราคาน้ำมันหรือสินค้าของกลุ่มชนชั้นล่างขึ้นราคา อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อชะลอเงินเฟ้อ
ในเรื่องนโยบายการเงินของไทย มองว่าไม่น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง เพราะไม่ได้ช่วยเรื่อง Trade War มากนัก การขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเห็นในช่วงหลังเลือกใหญ่มากกว่า เพราะว่าเราไม่ได้เห็นธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยก่อนเลือกตั้งสักเท่าไหร่ อาจจะมีแต่น้อยมาก