Brexit จะจบแบบใดบ้าง & แรงสุดแค่ไหน

เรียกว่ามาแรงแบบเรื่อยๆ ชนิดเกาะกระแสฟุตบอลโลกจนเบียดมากับ Trade War สำหรับ Brexit บทความนี้ จะขอตอบคำถามถึงการสิ้นสุดและผลกระทบจาก Brexit โดยบทสุดท้ายในรูปแบบต่างๆของ Brexit ว่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้าจนถึงปี 2020 อย่างไรบ้าง

2886

Brexit (The Independent)
เรียกว่ามาแรงแบบเรื่อยๆ ชนิดเกาะกระแสฟุตบอลโลกจนเบียดมากับ Trade War สำหรับ Brexit

บทความนี้ จะขอตอบคำถามถึงการสิ้นสุดและผลกระทบจาก Brexit โดยบทสุดท้ายในรูปแบบต่างๆของ Brexit ว่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้าจนถึงปี 2020 อย่างไรบ้าง มีดังนี้

หนึ่ง ไม่มีข้อตกลง Brexit ใดๆเกิดขึ้น’ หรือ No Deal ประเด็นอยู่ที่ไอร์แลนด์เหนือ ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อังกฤษเจรจากับอียู จะใช้กับอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือหรือไม่ โดยหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้ต้องเกิดการตั้งด่านเก็บภาษีและการตรวจตราเอกสารต่างๆ ทั้งสินค้าและบริการตรงเขตแดนระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ รวมถึงเขตแดนกับยูโร จะทำให้กระบวนการ Brexit ต้องชะงักงัน ในมิติทางการเมือง จะเกิดการถกเถียงกันในกลุ่ม Brexiteer และ Remainer ส่วนด้านผลกระทบเชิงธุรกิจ จะทำให้เกิดแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

สอง ‘Hard Brexit หลังจากเปลี่ยนผ่าน’ หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและยุโรป ไม่สามารถตกลงกันได้โดยเฉพาะประเด็นการให้สินค้าและบริการเพียงบางส่วนตามที่อังกฤษต้องการเป็นส่วนที่สามารถค้าขายโดยเสรี (Cherry-Picking) จะเกิดข้อตกลงที่คล้ายกับยุโรปทำกับแคนาดาที่เรียกกันว่า Canada Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สามารถค้าขายระหว่างกันเพียงบางส่วน ซึ่งอังกฤษน่าจะถือว่าออกจากยูโรแบบชัดเจนในกรณีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบริการทางการเงิน

สาม เกิด Customs Union หลังช่วงเปลี่ยนผ่าน กรณีนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ Remain Camp ต้องการ โดยอังกฤษจะค่อยๆ ตกลงถอนตัวออกจากยุโรป หลัง มี.ค. 2019 จากนั้น อังกฤษจะเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเสรีและ Customs Union กับยุโรปในปี 2020 โดยยังสามารถค้าขายได้กับไอร์แลนด์เหนืออย่างเสรีเหมือนเดิม ในมิติทางการเมือง กลุ่ม Brexiteer ยังบ่นว่าทำให้อังกฤษไม่สามารถตกลงและเซ็นสัญญาการค้ากับต่างประเทศเนื่องจากยังอยู่ใน Customs Union ส่วนธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อื่น

สี่ ให้เกิดการคิดภาษีกับยูโรเฉพาะสินค้าและบริการบางกลุ่ม’ ดีลแบบนี้คือสิ่งที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องการ ทว่านักการเมืองฝั่ง Brexiteer บ่นว่าเป็นแค่ Brexit เพียงแต่ชื่อ โดยชาวอังกฤษและยุโรปยังสามารถเดินทางระหว่างอังกฤษและยุโรปได้อย่างเสรีและรัฐบาลยังมีการแบ่งปันงบประมาณกับยูโรเหมือนเดิม โดยธุรกิจในส่วนของบริการด้านการเงินถือว่าเสียเปรียบกว่าเซกเตอร์อุตสาหกรรมและเกษตร

ท้ายสุด ‘European Economic Agreement’ (EEA) โดยดีลแบบนี้คล้ายกับที่นอรเวย์ทำกับยูโรในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ายังสามารถค้าขายกับยูโรได้อย่างค่อนข้างเสรีและเกือบทุกฝ่ายพึงพอใจยกเว้นกลุ่ม Brexiteer ที่ชาตินิยม โดยนักวิชาการส่วนใหญ่จะชื่อชอบทางเลือกนี้ เนื่องจากยังสามารถค้าขายกับประเทศในยุโรปได้อย่างค่อนข้างเสรี

หากถามว่าผลกระทบของการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะมีผลต่อจีดีพีและตลาดหุ้นของอังกฤษ รวมทั้งของไทยอย่างไร รวมถึงเงินปอนด์จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร จะขอตอบคำถามดังกล่าว ดังนี้

เมื่อพูดถึงประมาณการของจีดีพีที่ลดลงจากการเกิด Brexit คงต้องมองไปที่หน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือของประเทศได้แก่กระทรวงการคลังของอังกฤษ ว่าประมาณการผลกระทบของ Brexit ไว้เท่าไหร่ ตัวเลขที่กระทรวงการคลังอังกฤษได้คำนวณไว้คือจีดีพีลดลง 7.8% ในระยะยาว โดยคำนวณจากปริมาณการค้ากับต่างประเทศที่จะลดลงเมื่ออังกฤษเกิด Brexit ขึ้นมา

จากนั้น ผลกระทบที่เกิดจากปริมาณการค้าที่ลดลง จะส่งผลต่อระดับผลิตภาพของปัจจัยการผลิตของประเทศ จนกระทั่งนำเข้าไปวิเคราะห์กับแบบจำลองแบบดุลยภาพ จนได้อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีที่ลดลงของอังกฤษปรากฏว่าจีดีพีเติบโตลดลง 7.8% ในระยะยาว สำหรับในระยะสั้นนั้น ทางLondon School of Economicsได้คำนวณไว้ว่าจะลดลงราว 1.3-2.6% ใน 1-2ปีแรก

หากอ้างอิงจากงานศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จะพบว่าเมื่อจีดีพีของอังกฤษลดลง 1% จะส่งผลให้กำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ลดลงประมาณ 0.72% จากอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ลดลงในระยะสั้น ทำให้สามารถประเมินได้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงประมาณ 0.9% และเมื่อค่า P/E ของดัชนี FTSE100 ที่ประมาณ 16.7 จะทำให้ตลาดหุ้นของอังกฤษตกลงประมาณ 14% จากการ Brexit

ทีนี้ถ้ายังจำกันได้ สมัย Grexit หรือกรีซทำท่าจะออกจากยูโรในปี 2011 ตลาดหุ้นยุโรปหล่นฮวบลงประมาณ 30% และทำให้ตลาดหุ้นไทยตกลง สิริรวมทั้งสิ้นประมาณ 7% หากเป็นเช่นนี้ ด้วยแรงส่งของ Brexit น่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยโดยรวมให้ลดลงประมาณ 3-4% จากเหตุการณ์ Brexit แบบรุนแรง

เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจาก Brexitในตลาดหุ้นอังกฤษ ที่หนักสุดน่าจะได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลอนดอน ที่มีหุ้น 2 ตัวหลัก อย่างBritish LandและLand Securitiesที่จะดิ่งลงอย่างหนัก

หากพิจารณาจากเหตุการณ์ค่าเงินยูโรที่ลดลงราว 7% ในระยะเวลา 1 เดือน และ 15% ในเวลา 6 เดือนในช่วงวิกฤติกรีซแรงสุดเมื่อ 3 ปีก่อน แม้ท้ายสุด กรีซจะไม่ออกจากยูโรก็ตาม เมื่อพิจารณากรณี Brexit หากเกิดแบบแรงๆ ผมคิดว่าค่าเงินปอนด์น่าจะลดต่ำลงไม่น้อยกว่าระดับค่าเงินยูโรที่ลดลงในช่วง Grexit จากเหตุการณ์ Brexit แบบรุนแรงครับ

หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมเรื่อง “เจาะลึก Trade War & Brexit” พบกับมุมมอง Macro และการลงทุน ในครึ่งปีหลัง 2018 ในวันเสาร์ที่ 4 ส.ค. 2018 ติดตามรายละเอียดได้ทาง  https://goo.gl/forms/7Kf3cvGqd15GXN3m2 ครับ

Comments