<Erdogan/ Express.co.uk>
ในกรณีของความวุ่นวายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของตุรกี ผมเคยเขียนถึงเมื่อเกือบ 3 เดือนที่แล้ว ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อวิกฤต http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644755
มาถึงเหตุผลที่ตุรกีได้กลายมาเป็นไฮไลต์ให้ดราม่ากันอีกรอบ เริ่มต้นมาจาก บทวิเคราะห์ของธนาคารกลางยุโรป ว่าให้ระวังหนี้ของแบงก์ในยุโรปที่มีหนี้ของภาคเอกชนตุรกีอยู่ไม่น้อย ผนวกกับกรณีข้อพิพาททางการเมืองระหว่างสหรัฐกับตุรกี ในประเด็นของบาทหลวงชาวอเมริกันในตุรกี เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เห็นว่าศัตรูของตนเองเพลี้ยงพล้ำเลยถือโอกาสขึ้นกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมขึ้นไปอีก 1 เท่าตัว เป็นร้อยละ 50 และ 20 ตามลำดับ
จนกระทั่งบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา ทั้งตลาดพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนของตุรกีก็เข้าสู่โหมดที่เสี่ยงมาก โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีขึ้นไปเป็นร้อยละ 20 กว่า ส่วนสกุลเงินรีล์ก็อ่อนค่าลงร้อยละ 20 กว่าๆเมื่อเทียบกับต้นสัปดาห์ จนเป็นที่มาของความตื่นตระหนกของตลาด
ทีนี้ มาถึงคำถามว่าแท้จริงแล้ว ตุรกีจะเป็นชนวนสู่วิกฤตตลาดเกิดใหม่ได้จริงหรือ
ผมมองว่ามีโอกาสเข้าสู่วิกฤต ก็ต่อเมื่อ ธนาคารกลางยุโรปและไอเอ็มเอฟ รวมถึงสหรัฐ ให้ความเห็นและเพิ่มมาตรการที่ทำให้ตุรกีดูแย่กว่านี้ในสายตาชาวโลก ที่สำคัญ หากประธานาธิบดี ตุรกี รีเซบ ธายิป เออร์โดแกน ยังยืนยันไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงไม่แต่งตั้งผู้ที่มีความน่าเชื่อถือเข้ามาช่วยกู้เหตุการณ์ที่ยังพอคุมอยู่ได้ในตอนนี้
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าโดยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจตุรกีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยุโรปมากนัก หากเราคิดว่าจะทำให้เป็นชนวนวิกฤตผ่านช่องทางวิกฤตในยุโรป ดังรูปที่ 1 และ 2 ที่แบงก์ในยุโรป ยกเว้น สเปน มีหนี้ของตุรกีอยู่น้อย และ มูลค่าการส่งออกไปยุโรปราวๆครึ่งเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ของตุรกีก็ไม่ถึงจะเข้าโหมดฟองสบู่แต่ประการใด แม้ว่าในภาพเสถียรภาพเชิง Macro ถือว่าเศรษฐกิจตุรกีถือว่ามีความเประบางก็ตามที ดังรูปที่ 3
ด้วยความเป็นวิกฤตศรัทธา ผมมองว่าหากนายเออร์โดแกน ดึง นายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอลและรองประธานเฟดที่ไม่ถูกกับปธน.ทรัมป์เข้ามาช่วย ผมมองว่าทุกอย่างจบได้ในระดับเบื้องต้นภายใน 1 สัปดาห์
ตุรกีรอบนี้ ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย.. ผมว่าอยู่ที่ผู้นำของเขาเองที่บรรดาโลกตะวันตกไม่ค่อยปลื้ม จะหาทางออกให้ประเทศเขาเองอย่างไรมากกว่าครับ