RMF ปี 2023 ตลาดใดบ้าง… น่าสนใจ

การลงทุน RMF คาดว่าผู้ซื้อน่าจะมีระยะเวลาการลงทุนประมาณ 5-10 ปี ดังนั้น จะใช้ช่วงระยะเวลานี้เป็นตัวตั้ง แล้วมองหาตลาดหุ้นภูมิภาคต่างๆที่คาดว่าน่าจะตอบโจทย์นี้

1461

มาถึงจะใกล้สิ้นปีแล้ว หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เงินเดือนน่าจะมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ต้องปฏิบัติกันทุกปี นั่นคือหาวิธีในการลดภาษีเงินได้ที่ตนเองต้องชำระให้กับกรมสรรพากร ซึ่งหนึ่งในวิธีที่หลายคนนิยมในปีนี้คือการซื้อกองทุน SSF หรือ RMF เพื่อลดภาษีที่เราต้องจ่ายให้น้อยลง บทความนี้ ขออนุญาตโฟกัสไปที่ RMF ก่อนเนื่องจากผมจะเขียนถึงชื่อกองทุนด้วย ซึ่งด้วยเนื้อที่ที่จำกัดจึงขอโฟกัสที่ RMF ในบทความนี้ 

หากพิจารณาว่าจะลงทุน RMF ผมคาดว่าผู้ซื้อน่าจะมีระยะเวลาการลงทุนประมาณ 5-10 ปี ดังนั้น ผมจะใช้ช่วงระยะเวลานี้เป็นตัวตั้ง แล้วมองหาตลาดหุ้นภูมิภาคต่างๆที่คาดว่าน่าจะตอบโจทย์นี้ของผู้ที่กำลังจะตัดสินใจว่าจะซื้อ RMF ประเภทใดและกองทุนของบลจ.ใดดี แต่ขอบอกก่อนว่าผมอาจจะเน้นสะดวกไว้ก่อนเลยมีกองทุนของบลจ.แนวแบงก์พาณิชย์เกือบทั้งหมด แต่หากหากองทุนอื่นๆนอกเหนือจากนี้ แล้วได้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อความเสี่ยงดีกว่านี้ ก็ถือว่ายิ่งดีใหญ่ กองทุนที่กล่าวถึงตรงนี้ ถือว่าแค่เป็นตุ๊กตาสำหรับตลาดและ Asset Class ต่างๆ เท่านั้นเอง ดังนี้

เริ่มจาก การหาภูมิภาคของตลาดหุ้นที่น่าจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีหลังจาก 5-10 ปีผ่านไป โดยก่อนอื่น จะขอเรียงตลาดหุ้นจากค่า P/E จากแพงไปถูก พบว่า

ตลาดหุ้นอินเดีย  ซึ่งมี P/E ประมาณ 25 เท่า แน่นอนว่าราคามาค่อนข้างสูงทีเดียว แต่ก็สะท้อนจากความเชื่อมั่นถึงการเป็นมิตรกับเกือบทุกประเทศหลัก แม้กระทั่ง Apple ยังจะย้ายฐานมาผลิตไอโฟนแบบครบวงจรที่อินเดีย ทว่าปัญหาระหว่างชาวมุสลิมกับฮินดู โครงสร้างพื้นฐานที่ยังดูล้าหลังในหลายจุด รวมถึงการฝากความหวังไว้กับผู้นำนเรนดรา โมดิ แบบแทบจะคนเดียว ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ ตัวอย่างกองทุน อาทิ B-INDIAMRMF และ KFINDIARMF 

ตลาดหุ้นสหรัฐ  ซึ่งมี P/E ราวๆ 20.9 เท่า สำหรับ S&P500 ก็ถือว่าราคาสูงระดับหนึ่ง โดยบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐยุคนี้ ถือว่าส่วนใหญ่ไม่ Bubble เหมือนปี 2000 แต่ราคาก็ไปไกลสำหรับในหลายๆตัวแล้ว หากเป็นกรอบเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ณ ตรงนี้ ผมมองว่าน่าจะมีไว้นิดหน่อยก็ยังดี เผื่อเป็นตัวกระจายความเสี่ยงจากหุ้นไทยที่เราคงมีกันเยอะในพอร์ตแล้ว ตัวอย่างกองทุนสหรัฐแนว Active ได้แก่ KUSARMF และแนว Passive ได้แก่ SCBRMS&P500

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งมี P/E ราวๆ 20 เท่า ก็ถือว่าไม่ถูกเท่าไรนัก ด้วยกรอบเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ลุ้นผลงานของผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นว่าจะทำผลงานเปลี่ยนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาแบบเป็นปกติที่อัตราดอกเบี้ยเป็นบวกได้ไหม ซึ่งผมว่าโอกาสสำเร็จมีสูงเหมือนกัน หากไม่หวังว่าจะเอาผลตอบแทนสูงขนาด 50-60% ใน 5 ปี ผมว่า RMF ตลาดญี่ปุ่น น่าจะมีไว้ในพอร์ตไม่มากก็น้อย ตัวอย่างกองทุน ได้แก่ K-JPRM และ SCB-RMJP

ตลาดหุ้นจีน  ซึ่งมี  P/E ราวๆ 11 เท่า ถือว่าถูกเมื่อเทียบกับอดีต ผมว่าถ้ากรอบระยะเวลาการลงทุนเป็น 10 ปีขึ้นไป ตลาดจีนก็ยังดูน่าสนใจอยู่ดี ตัวอย่างกองทุนจีนแนว Active ได้แก่ KT-ASHARES RMF และแนว Passive ได้แก่ TCHARMF-A

สำหรับประเทศที่ก้ำกึ่งว่าผมชอบจะหรือจะเป็นกลุ่มม้ามืดดี ได้แก่ ตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งมี P/E ราว 15 เท่า เนื่องจากหากมองไป 5-10 ปีถือว่าน่าสนใจ แต่ด้วยความไม่เข้าสู่สถานะ EM สักทีเลยขอจัดอยู่ในหมวดนี้ก่อน

สำหรับม้ามืด ผมมองว่ามีดังนี้ กองทุน RMF ในตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งมี P/E ราว 15 เท่ากว่าๆ เนื่องจากกังวลประเด็นเสถียรภาพด้านพลังงานจะทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง และ RMF ของตลาดหุ้นไทยที่มี P/E 17 เท่าต้นๆ เนื่องจากมองว่าหลายท่านคงมีกองทุนหุ้นไทยอยู่เยอะในพอร์ตแล้ว แม้จะถือว่าราคาถูกลงมามากแล้วก็ตาม

ต้องขอย้ำว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments