ควีนส์อลิซาเบธ II กับ ไฮไลต์เศรษฐกิจอังกฤษ

บทความนี้ จะขอมองย้อนกลับไปถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีอลิซาเบธที่สอง และผู้นำอังกฤษ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละท่าน

773

หากใครได้ชมซีรีส์ The Crown น่าจะได้เห็นการสนทนาระหว่างพระราชินีอลิซาเบธกับผู้นำอังกฤษท่านต่างๆ พร้อมกับความเป็นไปของนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละท่าน ซึ่งในยุคของพระราชินีอลิซาเบธ มีทั้งหมด 15 ท่าน ซึ่งจะมีการรับประทานอาหารร่วมกันในทุกๆสัปดาห์ รวมถึงไฮไลต์เศรษฐกิจอังกฤษในยุคของผู้นำแต่ละท่าน สำหรับในช่วงแห่งวาระการสวรรคตของพระราชินีอลิซาเบธ บทความนี้ จะขอมองย้อนกลับไปถึงการปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวระหว่างพระราชินีและผู้นำอังกฤษ รวมถึงนโยบายของแต่ละท่านในบางส่วน ดังนี้

เริ่มจาก วินสตัน เชอร์ชิล ที่พระราชินีอลิซาเบธค่อนข้างมีความชื่นชอบเชอร์ชิลเป็นพิเศษ ด้วยความที่เชอร์ชิลเป็นฮีโร่แห่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าบุคลิกและท่าทางของเชอร์ชิลจะดูออกเปิ่นๆก็ตามที โดยในปีแรกที่ขึ้นครองราชย์ก็ได้ทำการประทานตำแหน่งท่านเซอร์ให้กับเชอร์ชิล ก่อนที่เขาจะลาออกจากตำแหน่งผู้นำในปีถัดมาด้วยปัญหาสุขภาพ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน

อดีตผู้นำอังกฤษอีกท่านที่ดูแล้ว จะมีการสนทนากับพระราชินีอลิซาเบธแบบที่ดูแล้วค่อนข้างแปลกตา คือ ฮาโรลด์ วิลสัน เนื่องจากวิลสันมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ทำให้เวลาการวางตัวในระหว่างการสนทนาและรับประทานอาหารร่วมกับพระราชินีดูแล้วจะเงอะๆงะๆ อีกทั้งกิริยาระหว่างการพูดคุย ดูแล้วจะมีความแตกต่างกันระหว่างเขากับพระราชินีอย่างชัดเจน ซึ่งทางพระราชินีก็เข้าใจถึงภูมิหลังของวิลสันเป็นอย่างดี

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของวิลสัน ถือว่าเป็นการใช้ตัวรัฐบาลเป็นศูนย์กลางตามแนวทางของพรรคแรงงาน โดยมีการตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนของเศรษฐกิจอังกฤษ ทว่าในยุคของวิลสัน การขาดดุลการชำระเงินได้กลายเป็นปัญหาหลักของยุควิลสัน โดยเขาเองลังเลที่จะลดค่าเงินปอนด์ในตอนต้นๆเพื่อแก้ปัญหา ด้วยความที่กังวลว่าพรรคแรงงานจะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นพรรคแห่งการลดค่าเงินปอนด์ ที่ในยุคนั้น อังกฤษมีความภาคภูมิใจในสกุลค่าเงินปอนด์ของตนเองเป็นอย่างมาก

ทว่าต่อมาวิลสันก็ลดค่าเงินปอนด์ในที่สุด ซึ่งก็ทำให้มูลค่าการขาดดุลการชำระเงินของอังกฤษลดลงจริงๆ อย่างไรก็ดี รัฐบาลของวิลสันก็เผชิญปัญหาการว่างงาน จนกระทั่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคอนุรักษ์นิยมในปี 1970 ทว่าเขาสามารถกลับมาชนะการเลือกตั้งใหญ่ได้อีกครั้งในปี 1974

ในภาพรวม ผมมองว่าวิลสันดูเป็นผู้นำพรรคแรงงานที่มีวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจมากที่สุดเท่าที่ผมเห็นมา

อดีตผู้นำอังกฤษท่านต่อมา ที่ดูแล้วออกจะห่างๆกับพระราชินี คือ เอ็ดเวิร์ด ฮีท ซึ่งด้วยความที่เป็นคนสนใจในสิ่งที่ไม่เหมือนกับพระราชินี รวมถึงในช่วงที่ฮีทดำรงตำแหน่งผู้นำ อังกฤษมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มมากขึ้นแตะหลักล้านคน จึงทำให้การสนทนาของทั้งคู่ออกมาในเชิงที่ค่อนข้างจริงจัง

ในยุคของฮีท ด้วยความที่เศรษฐกิจอังกฤษค่อนข้างตกต่ำและคนว่างงานเยอะ ทำให้ฮีทต้องหันมาทุ่มเทงบกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแอนโธนี บาร์เบอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษ ได้ออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า The Barber Boom จนกระทั่งอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งสูงขึ้นหลังจากนั้น จนพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคแรงงาน

ผู้นำอังกฤษท่านถัดมาคือ เจมส์ คัลลาแฮน หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งถือเป็นผู้นำที่สามารถทำให้เศรษฐกิจอังกฤษดูดีขึ้นมาจากยุคของฮีท ทว่าคัลลาแฮนไม่ตัดสินใจที่จะประกาศการเลือกตั้งใหญ่ในปี 1978 ที่เศรษฐกิจอังกฤษกำลังดีขึ้น โดยในปีถัดมา เขามาพ่ายแพ้ในการโหวตเสียงในสภาล่าง จนทำให้ต้องประกาศเลือกตั้งใหญ่ในกลางปี 1979 ซึ่งในช่วงนั้น มีการประกาศประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานบ่อยขึ้น จนกระทั่งต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งใหญ่ต่อมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมในปีนั้น

แล้วก็มาถึง หญิงเหล็กแห่งอังกฤษ มาร์กาเร็ต แธชเชอร์ ผู้นำอังกฤษที่ถือว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดนับตั้งแต่เชอร์ชิล โดยความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพระราชินีดูจะขัดๆกันนิดหน่อยในช่วงต้นๆ ด้วยความที่แธชเชอร์มาจากสายแข็งตลอดทั้งชีวิตของเธอ ทว่าในเวลาต่อมาพระราชินีก็ช่วยให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์และให้กำลังใจต่อเธอตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในตำแหน่งผู้นำอังกฤษ

ด้านนโยบายเศรษฐกิจของแธชเชอร์ จะมาในสายเสรีนิยมเป็นหลัก โดยเธอจะให้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พยายามลดบทบาทของรัฐในการมีส่วนร่วมกับกลไกเศรษฐกิจของประเทศ โดยปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนแทน รวมถึงจะพยายามให้บรรดารัฐวิสาหกิจต่างๆของอังกฤษ แปลงสภาพมาเป็นหุ้นเพื่อเข้ามาจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่ในช่วงต้นๆ เธอพยายามจะไม่ให้ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษเข้าร่วมกับสกุลเงินยุโรป ก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมในเวลาต่อมา นอกจากนี้ แธชเชอร์ยังถือเป็นพันธมิตรด้านนโยบายต่างประเทศที่ใกล้ชิดกับโรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐ

ท้ายสุด พระราชินีได้กล่าวสอบถามกับอดีตผู้นำอังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีใครเตือนวิกฤตซับไพร์มในปี 2008 ว่ากำลังจะเกิดขึ้น และช่วงก่อนที่จะสวรรคตในอีกไม่ถึง 2 วันต่อมา ได้ทรงให้ ริซ ทรัส นายกรัฐมนตรีอังกฤษท่านปัจจุบันเข้าพบ ถือเป็นภารกิจท้ายสุดของควีนส์อลิซาเบธที่สอง

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

 

 

 

 

Comments