“หนึ่งเดียวคนนี้” ของ 3 ธนาคารกลางหลักโลก

เดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางหลักของโลก 3 แห่ง โหวตด้วยเสียง 8-1 เหมือนกันในการประชุมสัปดาห์เดียวกัน ลองมารู้จักกับ “หนึ่งเดียวคนนี้” ของ 3 ธนาคารกลางหลักโลกนี้

1302

เดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางหลักของโลก 3 แห่ง โหวตด้วยเสียง 8-1 เหมือนกันในการประชุมสัปดาห์เดียวกัน

โดยธนาคารกลาง 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และ ธนาคารกลางอังกฤษขึ้นดอกเบี้ย ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น ตัดสินใจคงดอกเบี้ยและมาตรการกระตุ้นต่างๆเหมือนเดิม

สิ่งที่น่าสนใจคือ หากเราจะมองหาว่าธนาคารกลางหลักของโลก จะมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแนวทางนโยบายการเงินที่ทำอยู่ในตอนนี้ไปในทิศทางใด ช่องทางที่น่าจะดีที่สุดคือการติดตามมุมมองและเหตุผลของเสียงส่วนน้อยแบบ “หนึ่งเดียวคนนี้” สำหรับการโหวตสวนกับเสียงส่วนใหญ่ในธนาคารกลางหลักโลก 3 แห่งดังกล่าว

ขอเริ่มจากธนาคารกลางอังกฤษก่อน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินโหวตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 0.75 โดยสมาชิกที่โหวตสวนได้แก่ จอน คันลิฟ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ สาขาเสถียรภาพด้านการเงิน เขาอยากให้คงดอกเบี้ยในครั้งนี้ที่ร้อยละ 0.5 ไปก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าสงครามรัสเซียบุกยูเครนอาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอลงกว่าที่คาดไว้

โดยมุมมองของคันลิฟถือว่าออกมาจากผู้ดูแลด้านเสถียรภาพด้านการเงินค่อนข้างมาก เขามองว่าการกระตุ้นด้านการคลังจากรัฐบาลอังกฤษน่าจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งจะมีผลทางอ้อมต่อสถานะด้านการเงิน (Financial Condition) ของตลาดเงินอังกฤษให้ตึงตัวขึ้นหากขึ้นดอกเบี้ยต่อในครั้งนี้

นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนของอังกฤษที่อยู่ท่ามกลางการขึ้นมาอย่างรวดเร็วของค่าไฟ และราคาก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิง ประชาชนน่าจะได้รับความกดดันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หากเงินงวดที่ต้องมาจ่ายค่าผ่อนบ้านและผ่อนรถต้องขยับสูงขึ้นมาในช่วงนี้ จึงตัดสินใจโหวตคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะว่าไปก็ดูค่อนข้างผิดคาดเล็กน้อย เนื่องจากคันลิฟไม่ใช่สมาชิกที่ชอบกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ Dovish ในคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ

คราวนี้ มาถึงเฟดกันบ้าง “หนึ่งเดียวคนนี้” ที่โหวตสวนทางกับท่านอื่นในรอบนี้ ซึ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ได้แก่  เจมส์ บูลลาร์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ สาขาเซ็นหลุยส์ ที่คว่ำหวอดในวงการเฟดมานานกว่า 15 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บูลลาร์ดค่อนข้างจะมีเสียงที่โหวตคล้ายกับเสียงส่วนใหญ่อยู่บ่อยครั้ง ทว่าก็มีในบางครั้งที่จะมีความคิดเห็นเป็นของตนเองอย่างครั้งนี้ ซึ่งเขาถือเป็นสมาชิกเฟดที่ออกความเห็นต่อสาธารณชนค่อนข้างบ่อยอยู่

โดยบูลลาร์ดอยากให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกหลังโควิดร้อยละ 0.5 มากกว่า โดยให้เหตุผลว่าการต่อสู้กับเงินเฟ้อของเฟดในครั้งนี้ ควรจะเลียนแบบการขึ้นดอกเบี้ยสมัยพอล โวลคเกอร์ ที่ประเดิมการขึ้นดอกเบี้ยแบบ Go Big นั่นคือขึ้นดอกเบี้ยในครั้งแรกหลังรับตำแหน่งประธานเฟดแบบหนึ่งเปอร์เซ็นต์เต็ม เพื่อที่จะให้ตลาดและประชาชนมีความเชื่อถือต่อตัวเฟด โดยบูลลาร์ดอยากจะให้เฟดในวันนี้ใช้กลยุทธ์เดียวกับโวลคเกอร์ในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก

อย่างไรก็ดี เจย์ พาวเวล ประธานเฟด มองว่าสงครามรัสเซียบุกยูเครนอาจทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่รุนแรงเกินไปอาจไปทำให้เศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเติบโตดีมาสะดุดในช่วงที่สงครามกำลังเริ่มรุนแรงในช่วงนี้ โดยพาวเวลย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 จะเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงกลางปีนี้ และจะจริงจังกับกาการต่อสู้กับเงินเฟ้อในปีนี้แบบเข้มข้นมากที่สุด

แล้วก็มาถึงธนาคารกลางสุดท้ายซึ่งมี “หนึ่งเดียวคนนี้” ที่โหวตสวนทางกับท่านอื่นในรอบนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยผู้ที่มาโหวตสวนก็ถือเป็นเจ้าประจำของเสียงส่วนน้อย ได้แก่ โกวชิ คาทาโอกะ โดยเขาให้เหตุผลสำหรับการโหวตในครั้งนี้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น ควรจะมีมาตรการด้านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเข้มข้นมากกว่านี้ โดยทำให้อัตราดอกเบี้ย ของญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลงมากกว่านี้อีก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้บริษัทภาคเอกชนญี่ปุ่นหันมาลงทุนในโครงการใหม่ๆเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์โควิด ในการทำให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเข้าใกล้เป้าหมายที่ร้อยละ 2

สำหรับคาทาโอกะถือเป็นสมาชิกที่โหวตสวนแบบขาประจำ โดยที่เขาอยากให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น กระตุ้นผ่านนโยบายการเงินเพิ่มเติมจากที่ทำอยู่มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมองว่าหากนโยบายการเงินไม่ได้ทำให้ผ่อนคลายแบบเป็นระบบมากกว่านี้ โอกาสที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นกลับมาเข้าใกล้เป้าหมายที่ร้อยละ 2 จะมีอยู่น้อยลงๆทุกที

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

 

 

 

 

 

 

Comments