บทความนี้ว่าด้วยอาวุธของธนาคารกลางยุโรป สำหรับต่อสู้กับความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศต่างๆของยุโรป ที่มีชื่อว่า Transmission Protection Instrument (TPI)
แล้วอาวุธของธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีสำหรับต่อสู้กับความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศต่างๆของยุโรปหรือที่เรียกว่า Fragmentation ที่รอมานาน ก็ได้ฤกษ์คลอดออกมาในการประชุมครั้งล่าสุด มีชื่อ Transmission Protection Instrument (TPI)
โดยอีซีบีจะให้ TPI เป็นเหมือนตัวเสริมให้อาวุธหลักต่างๆสามารถใช้งานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดเงินและพันธบัตรในยุโรปมีความผันผวนหนักมากๆ และอาจก่อให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในประเทศต่างๆของยุโรปเกิดความแตกต่างกันมากเกินไป จนก่อให้เกิดผลเสียต่อกระบวนการการส่งผ่านนโยบายการเงิน (Transmission Mechanism) ทั่วภาคพื้นยุโรป โดยที่หากประเทศหรือหน่วยงานใดต้องการสมัครใช้ TPI จะมีเงื่อนไขที่ตั้งไว้เพื่อกรองว่าผู้จะมาขอความช่วยเหลือให้อีซีบีช่วยซื้อพันธบัตรของประเทศที่มีความเสี่ยงเฉพาะตัวสูงจากสภาวะการเงินที่แย่ลง แม้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศจะไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น ผ่านตลาดรอง (Secondary Market) มีระดับความเสี่ยงไม่มากจนเกินไป
ทว่าเงื่อนไขที่ตั้งไว้ผ่อนคลายมากกว่า รวมถึงอายุของตราสารที่อนุญาตซื้อได้มีความคลอบคลุมมากกว่าอาวุธเดิมที่คล้ายคลึงกันอย่าง OMT (Outright Monetary Transaction)
หรืออาจเรียก TPI ว่า market maker of last resort เพื่อช่วยให้ตลาดเงินและตลาดพันธบัตรของประเทศต่างๆในยุโรป ยังสามารถดำเนินไปได้ แม้ว่าบางช่วงเวลาที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศต่างๆในยุโรปจะแตกต่างกันมาก จนสภาพคล่องของพันธบัตรในบางประเทศเฮือดหายไปก็ตามที
สำหรับผู้ที่ไม่รู้จัก OMT จะขออธิบายย่อๆ ดังนี้
มาตรการ OMT ออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2012 เพื่อทำการซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัดจำนวนในตลาดรอง โดยเลือกที่จะซื้อพันธบัตรอายุไม่เกิน 3 ปี นั้น ได้ส่งผลให้เสถียรภาพของทั้งตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงนั้น เนื่องจากตลาดมีความเชื่อถือต่อมาตรการดังกล่าวเป็นอย่างมากว่าจะสามารถแก้หรือบรรเทาวิกฤติยูโรได้ หากเกิดสถานการณ์คับขันขึ้นมาในอนาคต
โดย OMT ให้ผลดีต่อดัชนีเศรษฐกิจต่างๆของยุโรป ดังนี้
หนึ่ง เจ้าตัว OMT ถือเป็นเครื่องมือที่ทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของประเทศยุโรปใต้อย่างอิตาลี และ สเปน ลดลง ในช่วงวิกฤตยุโรปปี 2011 ทว่าลาการ์ดอาจมองว่าอยากจะให้โครงการการซื้อพันธบัตรในตลาดรองในยุคของเธอที่ชื่อ TPI มีความคล่องตัวมากกว่า รวมถึงเป็นความคิดริเริ่มของเธอเอง
สอง สเปรดของตราสารหนี้ภาคเอกชนหลังจากใช้ OMT ลดลงค่อนข้างมากในปี 2011 จากการที่สถานการณ์การกู้ยืมของแบงก์และบริษัทเอกชนที่ดูผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดี TPI ตั้งเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการที่ดูอะลุ้มอล่วยกว่า OMT เพื่อต้องการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว สามารถที่จะเปิดโอกาสต่อบริษัทขนาดกลางและเล็กในการเข้าถึงได้ด้วย
สาม OMT ยังทำให้ปริมาณหนี้ต่อธนาคารกลางยุโรปของทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนในกลุ่มประเทศยุโรปใต้ลดลงค่อนข้างมาก และแน่นอนว่าได้ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในกลุ่มประเทศยุโรปใต้ลดลงค่อนข้างมากในช่วงปี 2011 อย่างไรก็ดี ลาการ์ดมองว่าเงื่อนไขของ OMT มีข้อจำกัดต่อผู้กู้บางเซกเมนท์และต่อบางช่วงอายุของพันธบัตร จึงอยากจะผ่อนคลายนั้น อันนำมาสู่เครื่องมือใหม่ที่ชื่อ TPI
คำถามเดียวที่เกิดขึ้น คือ อีซีบี จะสร้าง TPI ขึ้นมาทำไม ในเมื่อมี OMT อยู่ในมืออยู่แล้ว?
คำตอบ อาจจะไม่ถูกใจใครหลายคนที่กังวลในความเสี่ยงของตัวอีซีบีเอง นั่นคือ หากยังใช้ OMT อยู่ จะมีพันธบัตรหลายช่วงอายุในหลายประเทศที่จะไม่ถูกช่วยโดยอีซีบีในตลาดรอง
จุดที่เหมือนกันของทั้งคู่ คือ ทั้งคู่เป็นโครงการซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัดจำนวน (Open-ended) โดยในหลักการ อีซีบีอนุญาตให้ทั้งคู่ซื้อพันธบัตรในอันดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade ได้ รวมถึงยอมให้แบ่งการรับส่วนขาดทุนระหว่างอีซีบีกับผู้ออกพันธบัตรตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้
นอกจากนี้ TPI จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าสำหรับในส่วนนี้ อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้า TPI ยังอนุญาตให้ซื้อสินทรัพย์ที่หลากหลายกว่า OMT รวมถึงยังสามารถซื้อหลักทรัพย์ภาคเอกชนได้ด้วย
ที่สำคัญ ภายใต้ OMT ผู้เข้าร่วมโครงการต้องสามารถซื้อพันธบัตรในตลาดแรกเสียก่อน ซึ่งมีเงื่อนไขที่เข้มงวดค่อนข้างมาก อาทิ เงื่อนไขของตัวเลขเศรษฐกิจบางดัชนีจาก IMF จึงจะสามารถเข้าโครงการ OMT ได้ ซึ่งทำให้หลายหน่วยงานติดเงื่อนไขตรงส่วนนี้ จึงพลาดการให้อีซีบีเข้าช่วยเหลือ ซึ่ง TPI ได้ทลายข้อจำกัดนี้ไป และทำการสร้างเงื่อนไขที่ผ่อนคลายมากกว่าเป็นตัวกรองแทน ทำให้หลายภาคส่วนสามารถเข้าร่วมโครงการของอีซีบีนี้ได้
อย่างไรก็ดี มีหลายฝ่ายกังวลว่าอีซีบีอาจจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อประเทศที่ตนเองต้องการช่วยเหลือ จนอาจกลายเป็นประเด็นการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจยุโรปอ่อนแอหลังจากขึ้นดอกเบี้ยไปจนสุดตัว
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
หมายเหตุ สนใจแนวทางการสแกนกองทุนผ่านปัจจัยเชิง Macro ความเสี่ยง (Risk) และการวิเคราะห์แบบ Induction (MRI) จาก MacroView คลิกที่ลิงก์นี้ได้เลย
https://finno.me/macroview-blog-2022