จับตาวิกฤติการเงินโลกระลอกสอง? (Revisited บทความ 10 ปีก่อน)

4804
Crisis 2008 (MarketPlace)

มาถึงตอนนี้คงไม่มีใครสงสัยแล้วว่า ทั่วโลกได้เข้าสู่วิกฤติการเงินโลกครั้งใหญ่เป็นที่เรียบร้อย ทว่าคำถามตอนนี้อยู่ที่ว่าวิกฤติระลอกสองจะเกิดขึ้นหรือไม่

วิกฤติ ในที่นี้ หมายถึงนอกจากการที่สถาบันการเงินต่างๆ จะมีปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการถือครองตราสารอนุพันธ์ด้านเครดิตที่เสียหายแล้วนั้น มีโอกาสหรือไม่ที่ตัวของธนาคารกลางเองจะตกอยู่ในสถานะเช่นเดียวกัน ที่จริงความกังวลดังกล่าวมิใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่มีมากขึ้น

เมื่อหลายคนเริ่มสงสัยในคำพูดของ ดร.เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ที่กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า สถาบันการเงินจะสามารถจ่ายคืนเงินกู้ที่ยืมจากธนาคารกลางได้ จากการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะดีขึ้นตามลำดับในครึ่งปีแรก นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐยังมีแนวคิดที่จะอนุญาตให้หน่วยงานรัฐรับซื้อและประกันความ เสี่ยงหนี้เสียของสถาบันการเงินที่มีปัญหา แทนที่จะปล่อยให้หนี้เสียดังกล่าวอยู่ในงบดุลของธนาคารกลาง

โอกาสของวิกฤติดังกล่าวดูเหมือนจะมีน้ำหนักมากขึ้นอีก เมื่อนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เรียกร้องให้สถาบันการเงินต่างๆ ในอังกฤษ เปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่เสียหายทั้งหมดว่ามีอยู่เท่าไรกัน แน่ รวมทั้งประกาศมาตรการชุดใหญ่ล่าสุด เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา อาทิเช่น มาตรการประกันความเสียหายจากหนี้เสียของสถาบันการเงินและสินทรัพย์ ABS ชั้นดี เพื่อแลกกับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อใหม่ จึงเป็นที่สนใจกันว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐหรือในยุโรปไม่ดีขึ้นในระดับที่รวดเร็วพอ อย่างที่ธนาคารกลางต่างๆ คาดการณ์ไว้ ตัวของธนาคารกลางเองมิต้องมีอันเป็นไปหรือ นี่คือ สิ่งที่เรียกว่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ หรือวิกฤติระลอกสอง

อุปมาเหมือนคนไข้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาให้คุณหมอที่ปั๊มหัวใจให้ได้ เนื่องจากคนไข้ยังไม่ฟื้นเสียที นานวันเข้าเมื่อคุณหมอไม่ได้รับเงินค่ารักษาจากคนไข้ คุณหมอก็ไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า ธนาคารกลางจะหมดเนื้อหมดตัวได้อย่างไร ในเมื่อสามารถพิมพ์ธนบัตรใหม่ หรือกู้ยืมจากธนาคารกลางอื่นๆ ได้อีก คำตอบคือธนาคารกลางยังสามารถปล่อยกู้ได้ตลอด แต่ทว่าจำเป็นต้องหยุดทำการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปอาจจะตกต่ำจนถึงจุดที่ว่า สินเชื่อที่ธนาคารกลางจะปล่อยให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ต้องกลายเป็น NPL ค่อนข้างแน่นอน นั่นคือ ความเสี่ยงทางด้านเครดิตสูงมากๆ จากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด รวมถึงเนื่องจากการที่สถาบันการเงินเหล่านี้ จะทำตัวเป็น strategic NPL โดยมองว่าธนาคารกลางยังไงก็ไม่ทวงหนี้คืนทั้งหมด เหมือนกับบ้านเราในยุควิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 นำไปสู่การตกต่ำของความน่าเชื่อถือในธนาคารกลาง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินยากที่จะได้ผล

แน่นอนว่า กว่าที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะดำเนินไปถึงจุดนั้น คงไม่ได้ใช้ระยะเวลาแค่เดือนสองเดือน แต่หากเกิดขึ้นจริง ก็คงจะรอไม่นานขนาดถึงสองสามปีเช่นกัน หากธนาคารกลางยังไม่สามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวอย่างสุดขีดได้ภายใน เร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือยุโรปก็ตาม หากคิดจะยกเลิกการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาดังกล่าว ก็คงไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายดายนัก เนื่องจากย่อมเป็นการซ้ำเติมอัตราการว่างงานที่สูงและเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่ แล้ว กลับให้แย่ลงไปมากกว่าเดิมอีก จึงต้องบอกว่าสำหรับนาทีนี้ ธนาคารกลางใดสามารถยืนระยะได้นานกว่า ย่อมถือว่าได้เปรียบมาก แต่ก็ต้องแลกกับตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่จะเลวร้ายลงอย่างมาก จากการอัดฉีดเงินมากมายให้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหา แต่สถาบันการเงินดังกล่าวก็ยังคงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบ เศรษฐกิจได้

ทีนี้หากจะถามว่าสำหรับเมืองไทยนั้น ควรจะรับมือกับวิกฤติข้างต้นอย่างไร โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่าเราต้องทำการวิเคราะห์ว่าภูมิภาคใดที่มีโอกาสเข้าสู่วิกฤติระลอกสอง ที่ว่ามากกว่ากัน เพื่อหามาตรการบรรเทาและป้องกันผลกระทบดังกล่าว อาทิเช่น เรื่องส่งออกและการจ้างงาน อุปมาเหมือนข้างบ้านกำลังมีเพลิงไหม้อย่างแรง ก็ต้องดูว่า เพลิงของใครจะลุกลามมาถึงบ้านเราเร็วและแรงก่อนกัน ดังนั้น สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดกับไทยขณะนี้ คือ ในเมื่อเรามีรถดับเพลิงจำกัด จึงต้องหันรถดับเพลิงไปทำการฉีดน้ำในจุดที่เพลิงก่อตัวลุกโชนเร็วและแรงที่ สุด เพื่อให้เพลิงลุกลามมาถึงบ้านเราให้น้อยที่สุด หรือหากไม่มาถึงเลยได้ก็จะยิ่งเป็นการดี

สำหรับวิธีวิเคราะห์ในระดับเบื้องต้นนั้น ผู้เขียนได้นำงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ อังกฤษ และ ออสเตรเลีย มาทำการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยสาเหตุที่เลือกสามประเทศนี้ แน่นอนว่า อเมริกาต้องเป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของวิกฤติครั้งใหญ่เที่ยวนี้ ส่วนที่เลือกอังกฤษและออสเตรเลีย เนื่องจากประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ยังขาดเอกภาพในการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจในการบรรเทาวิกฤติครั้งนี้

อีกทั้งธนาคารกลางอังกฤษและออสเตรเลียยังได้ใช้มาตรการ ที่เรียกว่า Credit Easing หรือมาตรการของธนาคารกลาง (ทำรายการผ่านสินทรัพย์ในงบดุล) ซึ่งประกอบธุรกรรมซื้อสินเชื่อหรือหลักทรัพย์จากสถาบันการเงินเป็นรายเฉพาะ เจาะจงอย่างชัดเจน เหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลของทั้งสามประเทศ ยังได้ใช้มาตรการด้านการคลังในระดับที่มีนัยสำคัญ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยที่การวิเคราะห์นี้ ไม่รวมเอาประเทศญี่ปุ่นเข้ามาพิจารณา เนื่องจากญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการที่เรียกว่า Quantitative Easing ในการปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินในรูปแบบของเงินสำรองธนาคาร จึงทำให้ความเสี่ยงของธนาคารกลางญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ต่ำ

จากงานศึกษาในระดับเบื้องต้นของผู้เขียน เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ในภาพใหญ่ของการประเมินความเสี่ยงของ ธนาคารกลางดังกล่าว ได้แบ่งการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงของธนาคารกลางออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน ดังนี้

1. ระดับช่องว่างที่นโยบายการเงินแบบปกติยังสามารถดำเนินการได้ จะเห็นได้ว่าอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย มีความเสี่ยงจากสูงไปต่ำตามลำดับ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้งสามประเทศในขณะนี้ เท่ากับร้อยละ 0-0.25 ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 4.25 ตามลำดับ โดยเมื่อระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยิ่งเข้าใกล้ศูนย์มากเท่าไร แสดงว่าอาวุธทางการเงิน ในมือของประเทศนั้นใกล้จะหมดแล้ว ทำให้นโยบายการเงินแบบปกติไม่สามารถใช้การได้ จึงต้องหันมาใช้มาตรการที่เรียกว่า Credit Easing แทน

2. ความเสี่ยงด้านเครดิต ในการวิเคราะห์ได้ใช้อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ธนาคารกลางปล่อยกู้ให้กับ สถาบันการเงิน ในช่วงเริ่มเกิดวิกฤติปี 2551 และปัจจุบันเป็นดัชนีวัดความเสี่ยง ผลปรากฏว่า อเมริกากับอังกฤษ มีระดับความเสี่ยงที่สูงใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 6-7 เท่า และออสเตรเลียมีระดับความเสี่ยงในระดับที่ต่ำที่สุด โดยหากยิ่งมีการเติบโตดังกล่าวสูง ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง จากการที่โอกาสการเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ตามปริมาณสินเชื่อที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐค้ำประกัน หรือทำหน้าที่ Backstop guarantor ของสินทรัพย์ที่มีปัญหาให้กับ Bank of America และซิตี้กรุ๊ปกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ และถือครองสินทรัพย์ที่มีปัญหาของแบร์สเติร์นส์และเอไอจีในพอร์ตอีก

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านเครดิตของธนาคารกลาง อาจจะได้รับการบรรเทาบ้าง จากการที่ธนาคารกลางบังคับให้สถาบันการเงินลูกหนี้ แบ่งรับผิดชอบความเสียหายกับธนาคารกลาง หรือที่เรียกกันว่า Loss sharing scheme กรณีที่สินเชื่อดังกล่าวกลายเป็นหนี้ที่ไม่เกิดรายได้

3. ความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณสินเชื่อที่ธนาคารกลางให้กู้กับสถาบันการ เงิน โดยหากค่าดังกล่าว มีความผันผวนมาก นั่นหมายความว่า มีการกู้และยืมกันมากครั้งเพื่อทำการ refinance หนี้กันหลายครั้งหรือเกิดหนี้เสียขึ้นใหม่เรื่อยๆ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางมีความเสี่ยงสูงกว่ากรณีที่ค่าดังกล่าวมีความผันผวนต่ำ ผลปรากฏว่า อังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย มีความเสี่ยงจากสูงไปต่ำตามลำดับ โดยอังกฤษ และอเมริกา มีระดับของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานต่อค่าเฉลี่ยแบบรายสัปดาห์ ในระดับร้อยละ 80 และ 60 ตามลำดับ

4. ความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ (leverage) ได้ใช้อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ธนาคารกลางยืมจากสถาบันการเงินอื่น ในช่วงเริ่มเกิดวิกฤติปี 2551 และปัจจุบันเป็นดัชนีวัดความเสี่ยง ผลปรากฏว่า อเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ มีความเสี่ยงจากสูงไปต่ำตามลำดับ

สรุปจากข้อมูลในขณะนี้รวมถึงขนาดของเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง อเมริกาจะมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤติการเงินโลกระลอกสอง มากกว่าภูมิภาคอื่น หากแต่อังกฤษกลับดูเหมือนมีความเสี่ยงที่วิกฤติครั้งนี้จะกินเวลายาวนานกว่า เนื่องจากมีส่วนที่ธนาคารกลางยังมิได้ตรวจสอบตัวเลขความเสียหายที่แท้จริง ของสถาบันการเงินอยู่ในสัดส่วนที่สูง (กล่าวง่ายๆ ว่าแบงก์ต่างๆ ในอังกฤษยังใช้แผนลับ ลวง พราง กับธนาคารกลางอังกฤษอยู่ในขณะนี้) ส่วนหนึ่งดูได้จากความผันผวนที่สูงของปริมาณสินเชื่อที่ธนาคารกลางให้กู้กับ สถาบันการเงิน

ในภาพยนตร์ Red Cliff 2 หรือสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ กล่าวถึง กองทัพของโจโฉซึ่งมีกำลังมากกว่าทัพของขงเบ้งกว่า 10 เท่า ได้ทำการบุกเข้าใส่ฐานกำลังของขงเบ้ง ที่ยุทธภูมิผาแดง ด้วยกองทัพเรือจำนวนมหาศาลมากกว่า 2,000 ลำ หากแต่ด้วยกุศโลบายของขงเบ้งที่เลือกวันซึ่งมีทัศนวิสัยไม่ดีเพื่อทำการรบ ทำให้สามารถลวงให้ทัพของโจโฉยิงธนูใส่เรือรบของฝ่ายขงเบ้งที่มีแต่หุ่นฟาง แล้วขงเบ้งก็นำลูกธนูนับแสนนั้นกลับมารบกับโจโฉ จนมีชัยในที่สุด ผมไม่อยากให้ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรป รวมถึงรัฐบาลไทย (ซึ่งผู้เขียนจะทำการวิเคราะห์ในโอกาสต่อไป) เสียลูกธนูนับแสนไปเปล่าๆ เหมือนกับโจโฉครับ

Comments