แล้วธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดได้ประกาศแนวทางความเป็นไปอย่างเป็นทางการ ของเงินดิจิตัลดอลลาร์ หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ในภาพรวมออกมาเป็นครั้งแรก
โดยเฟดมองเงินสกุลคริปโต้ว่ามีระดับราคาที่แกว่งตัวมากเกินไปที่จะเป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยน โดยเฟดชอบ StableCoins มากกว่า แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ในการกำกับที่รัดกุมเช่นกัน
ทั้งนี้ ตามโร้ดแมปแรกสำหรับสกุลเงินดิจิตัล ของ “ธนาคารกลางสหรัฐ” นั้น เฟดเลือก CBDC ในรูปแบบต่างๆตามคำถามหลัก ดังนี้
คำถามแรก คือ เฟดจะเลือกให้เงินดิจิตัลดอลลาร์เป็นแบบที่ใช้เหรียญ token-based หรือแบบที่ใช้เปิดเป็นบัญชี หรือ account-based?
คำตอบ คือ เฟดเลือกให้ดอลลาร์เป็นแบบ account-based เพื่อให้สามารถรู้ถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ถือเงินดิจิตัลดอลลาร์
คำถามที่สอง คือ เฟดจะเลือกใช้เงินดิจิตัลดอลลาร์เป็นแบบ Wholesale ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้แจกจ่ายเงินดิจิตัลดอลลาร์สู่ประชาชน หรือ แบบ Retail ซึ่งเฟดจะแจกจ่ายเงินดิจิตัลดอลลาร์ให้กับประชาชนโดยตรง?
คำตอบ คือ เฟดเลือกให้เป็นแบบ Wholesale ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้แจกจ่าย เงินดิจิตัลดอลลาร์สู่ประชาชน
นอกจากนี้ เฟดยังต้องการให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ถือเงินดิจิตัลดอลลาร์เป็นความลับ หรือ Privacy-based CBDC
รวมถึงเฟดยังเน้นว่า สำหรับเงินดิจิตัลดอลลาร์ ต้องพิจารณาการใช้ประโยชน์ด้วยความรอบคอบ ในการประเมินให้เห็นข้อดีและข้อเสียของเงินดิจิตัลดอลลาร์ ก่อนที่ดอลลาร์จะก้าวเข้าไปสู่ เงินสกุลดิจิตัล
ทั้งนี้ ข้อดีของการใช้เงินดิจิตัลดอลลาร์ มีดังนี้
- ลดระดับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆจากบรรดาเงินสกุลคริปโต้หรือ Private Digital Money
- ช่วยบรรดาผู้ประกอบการวิสาหกรรมขนาดกลางและเล็กหรือ SME ให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการออก Private Digital Money หรือเท่ากับช่วยลดความเสียเปรียบด้านต้นทุนต่อบริษัทยักษ์ใหญ่
- เสริมให้เงินดอลลาร์ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลกหรือ International Reserve ที่มีเวอร์ชั่นเงินเป็นแบบดิจิตัลเทียบเคียงกับเงินสกุลหลักอื่นๆ
- ช่วยบริการการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
- ให้คนที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ โดยจากสถิติ พบว่าในสหรัฐ มีผู้ไม่ได้เข้าถึงแหล่งเงินเยอะพอสมควร โดยเงินดิจิตัลดอลลาร์จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่าย ด้านการเงินลดลง
- เกิดความคลอบคลุมด้านการเงินหรือ Financial Inclusion ในพื้นที่ห่างไกล ผ่าน Mobile App ที่จะใช้เงินดิจิตัลดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ข้อเสียของการใช้เงินดิจิตัลดอลลาร์ มีดังนี้
- การเปลี่ยนโครงสร้างตลาดของภาคการเงิน เมื่อมีเงินดิจิตัลดอลลาร์ ซึ่งมีสถานะใกล้เคียงกับเงินที่ใช้กันในปัจจุบันเข้ามาในระบบสถาบันการเงิน แน่นอนว่าด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่าตราสารทางการเงินประเภทอื่นๆ เนื่องจากปราศจากความเสี่ยงประเภทต่างๆดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลให้ปริมาณเงินฝากของแบงก์ลดลง รวมถึงปริมาณเงินกู้ก็จะลดลงด้วย
โดยหนึ่งในหนทางการแก้ไขในประเด็นนี้คือการทำให้อัตราดอกเบี้ยของเงินดิจิตัลดอลลาร์ ลดลง หรือ จำกัดไม่ให้ประชาชนถือเงินดิจิตัลดอลลาร์เกินระดับหนึ่งๆต่อท่าน
อย่างไรก็ดี เงินฝากแบงก์ก็มีคู่แข่งอย่าง Stablecoins และ ตราสารกองทุนในตลาดเงิน (Money Market Fund) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณเงินฝากของแบงก์ลดลงเช่นเดียวกัน
2. ความปลอดภัยและเสถียรภาพของระบบการเงิน กล่าวคือ เมื่อเงินดิจิตัลดอลลาร์ ไปทดแทนเงินฝากมากขึ้นเรื่อยๆ ณ จุดหนึ่ง ก็จะเกิด Bank Run หรือคนแห่ไปถอนเงินจากธนาคารจนไม่มีเงินเหลือพอที่จะคืนให้ประชาชน
โดยหนึ่งในหนทางแก้ไขในประเด็นนี้คือการทำให้อัตราดอกเบี้ยของเงินดิจิตัลดอลลาร์ ลดลง หรือ จนเป็นศูนย์ รวมถึงจำกัดไม่ให้ประชาชนถือเงินดิจิตัลดอลลาร์ เกินระดับหนึ่งๆต่อท่าน
- ปฏิบัติการของนโยบายการเงินน่าจะมีประสิทธิภาพลดลง โดยการออกแบบของ เงินดิจิตัลดอลลาร์ จะมีอิทธิพลต่อกลไกการทำงานของนโยบายการเงิน
ณ ปัจจุบัน ภายใต้บรรยากาศเฟดที่มีเงินสำรองอยู่ค่อนข้างเยอะนั้น การขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดสามารถที่จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่อัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ อาทิ เงินฝากหรือเงินกู้ เนื่องจากเม็ดเงินของเงินสำรองที่มีมากอยู่นั้น จะสามารถทำหน้าที่ส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่การเป็นต้นทุนทางการเงินในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี เมื่อเงินดิจิตัลดอลลาร์ได้รับการถือครองแทนเงินฝากมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณเงินสำรองในรูปแบบของเงินฝากและ ตราสาร repo จะลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ไม่สามารถที่จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่อัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม โดยหนึ่งในทางแก้ในประเด็นนี้คือการทำให้อัตราดอกเบี้ยของเงินดิจิตัลดอลลาร์ลดลง หรือ จำกัดไม่ให้ประชาชนถือปริมาณเงินดิจิตัลดอลลาร์เกินระดับหนึ่งๆต่อท่าน
นอกจากนี้ เงินดิจิตัลดอลลาร์น่าจะมีผลทำให้การตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจ จากการทำนโยบายการเงินแบบพิเศษ อาทิ QE เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย
- การปกป้องข้อมูลส่วนตัวและการป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน โดยการเข้ามาของ เงินดิจิตัลดอลลาร์จะทำให้มีจุดที่เสี่ยงต่อการขโมยหรือล้วงข้อมูลและการกระทำอาชญากรรมทางการเงินมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมี จำนวน contact point ทางการเงินอิเล็คทรอนิคส์มากขึ้นกว่าเดิมมาก
- การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหากถูกจารกรรม รวมถึงภัยทางไซเบอร์ โดยเงินดิจิตัลดอลลาร์ ต้องมีคุณสมบัติที่สามารถทำให้ระบบกลับมาฟื้นตัวใช้ได้เหมือนเดิมอย่างรวดเร็วหากถูกจารกรรม รวมถึงต้องมีระบบที่สามารถป้องกันจากอาชญากรรมหรือภัยทางไซเบอร์ เนื่องจากมี จำนวน contact point ทางอิเล็คทรอนิคส์มากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก
ไว้มารอติดตามกันต่อไปว่า กลไกการทำงานของเงินดิจิตัลดอลลาร์จะใช้เทคโนโลยี แนวไหน รวมถึงการจะเริ่มใช้งานจริงๆทั่วโลกในช่วงเวลาใดในอนาคต
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่มาภาพ: WSJ