สัปดาห์นี้ ตัวเลขเงินเฟ้อสำหรับประเทศหลักของโลกอย่างยุโรปหรือแม้แต่สหรัฐ ได้ออกมาลดลงจากจุดสูงสุด ทำให้มีประเด็นที่หลายฝ่ายเริ่มให้ความสนใจ ได้แก่ การบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะค่อยๆลดลงในรอบนี้จากปัจจุบัน โดยมองข้ามช็อตไปว่าระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (Inflation Target) ที่มีความเหมาะสมกับโลกหลังยุคโควิด ควรจะใช้หลักการเดิม คือตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางไว้ที่ 2% หรือ ควรปรับเปลี่ยนไปจากนี้ดีกว่า
ข้อเสนอนี้ได้รับการกล่าวถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ได้เสนอไอเดียว่าระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในโลกหลังยุคโควิด ควรจะขึ้นจาก 2% เป็น 3% ด้วยเหตุผลดังนี้
- ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา จากที่เราเคยเชื่อว่าถ้าเราต้องการสินค้าอะไร ก็เพียงสั่งซื้อสินค้านั้นจากแหล่งที่ผลิตสินค้านั้นจากแห่งใดแห่งหนึ่งของโลก แล้วเราก็จะได้รับสินค้านั้นมาในเวลาไม่นาน หรือ ที่เรียกกันว่าโลกเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) หรือในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า อุปทานมีความยืดหยุ่นสูง นั่นคือ หากธนาคารกลางจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากเห็นว่าระดับอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็สามารถทำได้และมักจะได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะไปลดอุปสงค์หรือความต้องการของสินค้านั้น โดยที่เป็นเช่นนี้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เราอยู่ในโลกซึ่งอุปทานที่มีอยู่ทั่วโลกสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
ทว่า ในวันนี้ เราอยู่ในโลกที่อุปทานต้องการใช้เวลาค่อนข้างนานในการปรับตัว หากมีการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ เนื่องจากประเทศหลักของโลกล้วนแล้วแต่จะเก็บสินค้าที่มีความสำคัญให้กับประชากรของประเทศตนเองไว้บริโภคภายในประเทศ (supply chain localization) ดูตัวอย่าง กรณีพลังงานน้ำมันและก๊าซของสหรัฐ หรือ สินค้าด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของอินโดนีเซีย ซึ่งนั่นจะทำให้ธนาคารกลางมีอำนาจหรือพลังในมือที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้น้อยลง ซึ่งนั่นทำให้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางจำเป็นต้องมีระดับที่สูงขึ้น โดยปรากฏการณ์ใหม่นี้ที่เกิดขึ้นกับโลกของเรานี้ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นแบบถาวร
- ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Risk) จากงานวิจัยของธนาคารกลางอังกฤษพบว่าความถี่ที่สูงขึ้นของเหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติที่เกิดจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของโลก ได้ส่งผลกระทบต่อฝั่งอุปทานของเศรษฐกิจ โดยได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิดมากจนอิทธิพลของธนาคารกลางจากการขึ้นหรือลดดอกเบี้ยต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อแทบจะไม่เป็นเหมือนเดิม
- หากพิจารณาการกระจายตัวของความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อ (inflation expectations) ในตอนนี้ เมื่อเทียบกับในอดีต จะพบว่ามีการกระจายตัวในลักษณะที่กว้างและกระจายตัว (More Distributed) มากขึ้นกว่าเดิม นั่นคืออัตราเงินเฟ้อที่คาดหวังในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 2-3 มีความถี่ที่มากขึ้น ดังนั้นธนาคารกลางอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 2 เหมือนเดิม
- มีงานวิจัยหลายชิ้น ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในส่วนที่ไม่รวมอาหารและน้ำมัน(Underlying inflation) มีระดับที่สูงขึ้นกว่าในช่วงก่อนโควิด ซึ่งอาจจะเป็นไปแบบถาวรก็เป็นได้
นอกจากนี้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังในยุโรป พบว่าผู้คนจะกังวลประเด็นต่อสถานการณ์เงินเฟ้อเมื่อระดับอัตราเงินเฟ้อเกิน 3% โดยวิเคราะห์มาจากข้อมูลแบบ High Frequency Data
ที่สำคัญ หากพิจารณาจากช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา เมื่อธนาคารกลางส่วนใหญ่ของโลกตั้งเป้าหมายระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายไว้เป็น 2% จะพบว่าเราอยู่ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยแบบต่ำมาก (Zero Lower Bound Interest Rate) ด้วยระยะเวลากว่าสองในสามของช่วงเวลาทั้งหมด
ทำให้เริ่มมีหลายคนคล้อยตามถึงแนวคิดการปรับระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางขึ้นจาก 2% เป็น 3% ทว่าก็มีบุคคลชื่อดังบางท่าน อาทิ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ที่ประเมินว่าการปรับระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายให้สูงขึ้นนั้น ควรจะทำในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากกว่า เพราะถือเป็นการวางแผนในช่วงที่ยังไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งหลายท่านก็มองว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ อย่างในช่วงทศวรรษ 2010 แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการทำเช่นนั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นกันว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นได้ในเร็ววัน เนื่องจากอยู่กับสภาพเงินเฟ้อต่ำมานับเป็นสิบปี
หรือ เจมส์ บูลลาร์ด ผู้ว่าการเฟด สาขาเซนหลุยส์ ที่มองว่าหากมีการปรับระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายให้สูงขึ้นในตอนนี้ น่าจะเป็นการบ่งบอกถึงการยอมแพ้ต่อเงินเฟ้อของธนาคารกลาง
คงต้องจับตาในประเด็นนี้กันต่อไป เนื่องจากน่าจะเป็นหัวข้อหลักในแวดวงวิชาการที่จะถกเถียงกันในปี 2023
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่มาภาพ: NY Times