มาร์วิน กู้ดเฟรนด์: ราชันไร้บัลลังก์เฟด

บุคคลที่แม้ไม่โด่งดังเท่า เจย์ พาวเวล หรือ เบน เบอร์นันเก้ ทว่ามีความเจนจัดในทางเศรษฐกิจการเงินไม่แพ้กัน น่าจะมีชื่อของ มาร์วิน กู้ดเฟรนด์ อยู่ในลิสต์กูรูของคุณ มาติดตามกับ 'ราชันไร้บัลลังก์เฟด' กัน

1090

หากคุณเป็นคอเศรษฐกิจโลกแบบเหนียวแน่น หนึ่งในบุคคลที่แม้ไม่โด่งดังเท่า เจย์ พาวเวล หรือ เบน เบอร์นันเก้ ทว่ามีความเจนจัดในทางเศรษฐกิจการเงินไม่แพ้กัน น่าจะมีชื่อของ มาร์วิน กู้ดเฟรนด์ อยู่ในลิสต์กูรูของคุณในยุคนี้ โดยกู้ดเฟรนด์ได้จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับมาเมื่อกลางปีนี้ โดยก่อนที่จะเสียชีวิตไม่นาน เขาเคยได้รับการเสนอชื่อให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าไม่ผ่านการรับรองจากวุฒิสภาจากการคัดค้านของวุฒิสมาชิกบางท่าน

ว่ากันว่าหากโลกของฟุตบอลมีโยฮัน ครัฟฟ์ หรือ เมสซี่ ที่เป็นเหมือนราชันไร้บัลลังก์แล้ว โลกของนโยบายการเงิน ก็มีมาร์วิน กู้ดเฟรนด์ เป็นหนึ่งในราชันย์ไร้บัลลังก์แห่งเฟดเฉกเช่นกัน โดยบทความนี้ จะพามาทำความรู้จักเขากัน

หากพูดกันตามตรงแล้ว แนวคิดการทำ QE หรือนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณของเบอร์นันเก้ในช่วงวิกฤตซับไพร์ม หากจะมองหาว่าใครเป็นคนแรกๆที่เป็นผู้เปิดประเด็นในแวดวงวิชาการ กู้ดเฟรนด์น่าจะเป็นหนึ่งในนั้นมากกว่าเบอร์นันเก้ เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่เสนอวิธีการในรูปแบบ QE เพื่อป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในปี 2002 ไม่ให้เกิดขึ้น

มาร์วิน กู้ดเฟรนด์ ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานวิจัยแบบจริงจังตลอดทั้งชีวิต โดยทำงานที่เฟด สาขาริชมอนด์ เป็นเวลาเกือบ 30 ปี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิจัยและนโยบายการเงิน รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานเฟด สาขาริชมอนด์อีกด้วย ว่ากันว่าความคิดเห็นของเฟด สาขาริชมอนด์ ในยุคทศวรรษ 90 ต่อช่วงทศวรรษ 2000 ต้นๆ ซึ่งนำเสนอต่อการประชุมเฟด ที่มีประธานเฟดอย่าง อลัน กรีนสแปน เป็นประธาน ในยุคดังกล่าว มาจากกู้ดเฟรนด์เป็นหลัก

โดยมีการประชุมเฟดอยู่ครั้งหนึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 90 ณ กรุงวอชิงตัน เกี่ยวกับการซื้อตราสารทางการเงินภาคเอกชนที่เฟดกำลังพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ตนเองสามารถทำดีหรือไม่ เนื่องจากตราสารพันธบัตรสหรัฐในตอนนั้นอยู่ในช่วงขาดแคลน ซึ่งกรีนสแปนถามทางประธานเฟด สาขาริชมอนด์ว่าแน่ใจว่าจะค้านในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งตัวประธานเฟดสาขาริชมอนด์ลังเลที่จะตอบกลับกรีนสแปน โดยทางกู้ดเฟรนด์ซึ่งนั่งอยู่ข้างหลังต้องเขย่าเก้าอี้ให้ตอบว่าค้านอย่างแน่นอน ซึ่งน่าจะถือเป็นครั้งเดียวในการประชุมเฟด ซึ่งที่ปรึกษาจะมาเตือนประธานเฟดสาขาให้พูดในสิ่งที่ตนต้องการกลางที่ประชุม โดยกู้ดเฟรนด์ถือเป็นผู้ที่ยกระดับงานวิจัยทางวิชาการของเฟด สาขาริชมอนด์ ให้มีความใกล้เคียงกับเฟดสาขาใหญ่ๆ อย่าง นิวยอร์ค บอสตัน หรือ ชิคาโก ในยุคนั้น

หากจะย้อนผลงานเด่นๆ ที่กู้ดเฟรนด์ฝากไว้กับแวดวงเศรษฐกิจการเงิน พบว่ามีดังนี้

หนึ่ง งานวิจัยที่ว่าด้วยข้อถกเถียงที่ว่าธนาคารกลางควรจะมีความลับในบางเรื่อง หรือ ควรจะโปร่งใสในทุกๆเรื่องต่อสาธารณชน โดยประเด็นนี้มาจากกรณีเมื่อปี 1979 ว่าด้วยการฟ้องร้องต่อศาลจากสถาบันการเงินเอกชนว่า เฟดมีการชะลอการเผยแพร่นโยบายหลังจากได้ผ่านการประชุมเฟดเป็นผลประชุม ซึ่งผิดต่อหลักกฎหมายของอเมริกาในขณะนั้น ซึ่งตรงนี้ ทางกู้ดเฟรนด์ได้ทำงานวิจัยเชิงวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสรุปว่าในบางประเด็น เฟดจำเป็นต้องเก็บข้อมูลเป็นความลับจะให้ผลที่ดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า

โดยความกล้าหาญของกู้ดเฟรนด์ในการทำวิจัยหัวข้อ อยู่ตรงที่เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นทางการเมือง ถือว่าต้องรองรับความกดดันจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งสะท้อนผ่านระยะเวลาที่บทความดังกล่าวจะสามารถออกมาตีพิมพ์เป็นบทความวิชาการในวารสารที่ได้รับการยอมรับสูงสุดนั้น ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีถึงจะตีพิมพ์ออกมาได้

สอง หากเรามักจะได้ยินว่า กรีนสแปนเป็นเจ้าพ่อแห่งการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดไม่ให้เงินเฟ้อก่อตัวขึ้นมา ที่เห็นผลสำเร็จจริงในยุคทศวรรษ 80 แล้วนั้น กู้ดเฟรนด์ถือว่าเป็นผู้ที่เน้นการขึ้นดอกเบี้ยสไตล์ดังกล่าวมากกว่ากรีนสแปนเสียอีก โดยในปี 1994 สมาชิกเฟดเพียงหนึ่งเดียวที่โหวตค้านการคงดอกเบี้ยโดยให้เหตุผลว่าควรขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ก่อตัวขึ้นมา ได้แก่ เฟดสาขาริชมอนด์ ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดนี้มาจากกู้ดเฟรนด์นั่นเอง

สาม กู้ดเฟรนด์ ก็เป็นอีกหนึ่งท่านที่สนับสนุนแนวคิดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบเต็มตัว โดยในปี 1998 เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มจะมีการเติบโตที่ดีขึ้น ทว่าอัตราเงินเฟ้อกลับลดลงมาเรื่อยๆ โดยที่เงินเฟ้อแบบปราศจากอาหารและพลังงาน หรือ Core Inflation ได้ลดลงต่ำกว่าระดับร้อยละ 2 เป็นเวลายาวนาน จนทำให้กรีนสแปนต้องแต่งตั้งคณะทำงานออกมา 2 ชุด โดยชุดแรก มีเจเน็ต เยลเลนซึ่งในขณะนั้น เป็นประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก เป็นหัวหน้าทีม และ ชุดที่สอง มีประธานเฟด สาขาริชมอนด์ เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งกู้ดเฟรนด์คือผู้ทำวิจัยให้กับเฟด สาขาริชมอนด์นั่นเอง

โดยที่ทั้ง 2 ทีม มีความเห็นต่างกันในประเด็นการนำแนวทางอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายมาใช้เป็นเป้าหมายของเฟด โดยเยลเลนไม่เห็นด้วยเนื่องจากจะทำให้ระดับการจ้างงานลดต่ำลง ส่วนกู้ดเฟรนด์สนับสนุนการใช้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟด เนื่องจากมองว่าจะทำให้เฟดมีความน่าชื่อถือเพิ่มขึ้นจากการปกป้องเงินเฟ้อสู่เป้าหมายสำเร็จ รวมถึงมีการพิสูจน์ในทางวิชาการแล้วว่าการใช้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจจะให้ผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าไม่ใช้

แล้วในอีกไม่ถึง 8 ปีต่อมา ในสมัยเบน เบอร์นันเก้ เป็นประธาน เฟดก็นำแนวคิดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายมาใช้ในทางปฏิบัติจริงๆ

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments