จาก ECB สู่ สัปดาห์แห่ง 3 แบงก์ชาติหลัก

พบกับมุมมองสัปดาห์สำคัญของ 3 แบงก์ชาติหลักในสัปดาห์นี้กัน

708

ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

พบกับมุมมองสัปดาห์สำคัญของ 3 แบงก์ชาติหลักในสัปดาห์นี้กัน

มาถึงในช่วงที่เริ่มเข้าใกล้ไตรมาส 4 กันแล้ว ผมขอสรุปภาพรวมของธนาคารกลางหลักของโลก ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการประชุมของ 3 ธนาคารกลางหลักในสัปดาห์นี้ อันประกอบด้วย ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ บีโออี และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ แต่ก่อนอื่น ขอนำท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจกับมุมมองของผลการประชุมธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อน

ผมมองว่า คริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี ประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ย 25 bp ในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการลดความกดดันของตนเองในตัดสินใจขยับดอกเบี้ยหรือไม่ในการประชุมครั้งถัดไป เนื่องจากหากพิจารณาการประชุมของอีซีบีใน 2 ครั้งถัดไปซึ่งเป็น 2 ครั้งสุดท้ายในปีนี้นั้น จะพบว่าการประชุมในรอบปลายเดือนตุลาคม อีซีบีประชุมก่อนเฟด

ส่วนการประชุมครั้งสุดท้ายในช่วงกลางเดือนธันวาคมนั้น เฟดประชุมก่อนอีซีบี ซึ่งผมมองว่าหากลาการ์ตัดสินใจในการประชุมเมือ่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ว่าจะคงดอกเบี้ยแทน จะทำให้ความกดดันมาตกกับอีซีบีในการประชุมรอบปลายเดือนตุลาคม โดยจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย 25 bp หรือ 50 bp เนื่องจากเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 25 bp ในรอบประชุมต้นเดือนพฤศจิกายนอยู่ไม่น้อย ดังนั้นการที่อีซีบีขึ้นดอกเบี้ย 25 bp ไปก่อนเช่นนี้ แล้วบอกว่าอาจจะเป็นระดับที่สูงสุดไปแล้วนั้น ทำให้โอกาสที่อีซีบีจะทำให้เกิดความผิดพลาดทางนโยบายในปีนี้มีอยู่ต่ำมาก

หันมาพิจารณาการประชุมของ 3 แบงก์ชาติหลักในสัปดาห์นี้กันบ้าง จะขอเรียงตามวันประชุมในสัปดาห์กันเลย ดังนี้

เริ่มจากเฟดกันก่อน แม้ว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ยังมองว่าเจย์ พาวเวล ก็ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบ “Proceed Carefully” ตามท่ีเกริ่นไว้ในการประชุมแจ็ควันโฮล เมื่อปลายเดือนที่แล้ว แบบที่คงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ โดยที่มองว่าเส้น Dot Plot ของสมาชิกเฟดที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตจนถึงสิ้นปีนี้ น่าจะลดระดับลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน อย่างไรดี Dot Plot ของปีหน้า น่าจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

โดยในภาพรวมก็ยังมองว่าน่าจะมีโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้มากกว่าที่จะคงดอกเบี้ย โดยที่การลดดอกเบี้ยในปีหน้าน่าจะยังไม่ใช่ประเด็นที่พาวเวลจะกล่าวถึงในครั้งนี้ โดยคาดว่า Proceed carefully น่าจะยังเป็น ธีมหลักของรอบนี้ ทว่าความ Hawkish ยังคงมีอยู่แบบเต็มสูบสำหรับท่าทีของพาวเวล

ต่อด้วยการประชุมแบงก์ชาติอังกฤษ ผมมองว่าผลจากการล้มละลายของเมืองเบอร์มิงแฮมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงยังมีเมืองใหญ่บางเมืองในอังกฤษที่มีโอกาสจะล้มละลายตามกันมา น่าจะทำให้ท่าทีของบีโออีลดระดับความ Hawkish ลง เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยแบบชุดใหญ่ น่าจะทำให้ภาระดอกเบี้ยของเมืองที่มีฐานะการคลังง่อนแง่นเหล่านี้พุ่งขึ้นไปอีก โดยหากแอนดริว ไบลีย์ ผู้ว่าบีโออี มีการกล่าวถึงเบอร์มิงแฮมขึ้นมา น่าจะยิ่งทำให้ความ Hawkish ของบีโออีลดลงมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้ออังกฤษประจำเดือนก.ค. ก็ลดลงมาสู่ระดับ 6.8% จาก 7.9% เมื่อสัปดาห์ก่อน รวมถีงมีแนวโน้มจะลดลงอีกในการประกาศช่วงก่อนประชุมบีโออีในครั้งนี้ ยิ่งทำให้ผมมองว่าบีโออีน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 25 bp ในรอบนี้

ท้ายสุด สำหรับการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในรอบนี้ ผมมองว่าน่าจะออกมาแบบ Neutral นั่นคือไม่มีการขยับปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอะไรใดๆในครั้งนี้ เนื่องจากการขยาย band ของมาตรการตรึงเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ย หรือ Yield Curve Control สำหรับพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 10 ปี เป็นช่วงที่กว้าง +/- 0.5% จากค่ากลางที่ระดับ 0% เมื่อเกือบ 2 เดือนก่อน น่าจะเพียงพอต่อการ Shift นโยบายการเงินของบีโอเจสำหรับในไตรมาสนี้

โดยการที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คาซึโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณการสิ้นสุดนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ พร้อมกับแสดงความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าระดับค่าจ้างในปีหน้าน่าจะยืนในระดับนี้หรือสูงกว่านี้ได้ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่กลับไปต่ำกว่า 2% อีกครั้งในอนาคตนั้น อาจจะมุ่งทำเพื่อเป็นการสยบการอ่อนลงของค่าเงินเยนเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. ที่ลงมาใกล้แตะระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ มากกว่าที่จะเป็นการพูดในแบบที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในอนาคตสำหรับการประชุมบีโอเจในวันที่ 21-22 ก.ย. นี้

Comments