Four Weddings & A Funeral ฉบับการเงิน

ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วนึกถึงภาพยนตร์อังกฤษในยุค 90 ที่มีชื่อว่า Four Weddings & A Funeral จากการที่ได้เล่าเรื่องราวของการนโยบายด้านการเงินในยุคต่างๆ จนนำมาถึงบทสรุปของเรื่อง

832

ทุกๆปี ผมจะแนะนำหนังสือที่น่าสนใจอย่างน้อยหนึ่งเล่ม ในปีนี้ เป็นหนังสือที่มีชื่อว่า The Price of Time: The Real Story of Interest เขียนโดย เอ็ดเวิร์ด แชนเซเลอร์ ว่าด้วยเรื่องราวของบทบาทของอัตราดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจในยุคต่างๆผ่านตัวละครเด่นตามช่วงเวลานั้นๆ โดยผมเลือกหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากตรงกับช่วงเวลานี้ที่นโยบายการเงินของโลกกำลังอยู่ในโหมดที่พลิกกลับไปมาจากทั้งปัจจัยเงินเฟ้อและวิกฤตแบงก์ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วนึกถึงภาพยนตร์อังกฤษในยุค 90 ที่มีชื่อว่า Four Weddings & A Funeral จากการที่ได้เล่าเรื่องราวของการนโยบายด้านการเงินในยุคต่างๆ จนนำมาถึงบทสรุปของเรื่อง

ขอเริ่มจาก อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจ้าของฉายาพ่อมดการเงิน เจ้าของวลีฮิต Irrational Exuberance ซึ่งมักจะกล่าวถึงตลาดหุ้นในยามที่ราคาขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล ที่เชื่อว่าธนาคารกลางควรจะเป็นเหมือนดินแดนที่ไม่สามารถจับต้องได้จากผู้เล่นในตลาด โดยกรีนสแปนมักได้รับการเปรียบเทียบจากสื่อมวลชนว่ามีลูกแก้วที่สามารถหยั่งรู้ถึงอนาคต ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เขามั่นใจตัวเองมากจนบางครั้งมากเกินไป อาทิ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ประมาณ 3-4 ปี ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยลงมาต่ำจนเกินไปจนนำมาซึ่งวิกฤตแฮมเบอ์เกอร์ในที่สุด โดยกรีนสแปนมีสไตล์เป็นนายธนาคารกลางที่ใช้การเมืองนำทางค่อนข้างมาก โดยมักจะเจรจานอกรอบกับนักการเมืองต่างๆก่อนที่จะตกลงกันแบบเป็นทางการในเรื่องต่างๆ   

ท่านถัดมา ได้แก่ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้นิยามคำว่า Secular Stagnation หรือ สภาวะความเสื่อมถอยเรื้อรัง โดยในขณะนั้น เศรษฐกิจสหรัฐมีระดับหนี้ต่อจีดีพีค่อนข้างสูง การเจริญเติบโตของประชากรเริ่มลดลง รวมถึงมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง ทว่าไปกระตุ้นการออมของคนในประเทศมากกว่า

ในทางกลับกันการชะลอตัวลงของผลิตภาพในการผลิตและของผลผลิตได้ไปทำให้การลงทุนชะลอตัวลง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่เป็นอัตราตามธรรมชาติ หรือ อัตราผลตอบแทนที่ความต้องการในการลงทุนเท่ากับอุปทานของการออม จึงมีระดับที่ลดลง และ มีโอกาสที่จะเป็นค่าติดลบด้วย 

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่สามารถมีค่าติดลบได้ ยกเว้นอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงมากๆ เท่านั้น อย่างเช่นในขณะนี้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาวะสินเชื่อส่อว่าจะตึงตัวจากวิกฤต SVB Bank ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐตอนนี้ จำเป็นต้องเน้นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเพื่อช่วยสถานการณ์วิกฤตแบงก์ในตอนนี้

ท่านที่สาม คือ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ฉายาเจ้าพ่อแห่งเงินเฟ้อเป้าหมาย โดยเบอร์นันเก้ถือเป็นบุคคลที่เป็นผู้นำในการจัดการกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จนสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่สุดในเดือนกันยายน 2008 ที่ระบบทุนนิยมใกล้ถึงจุดล้มสลายจากการล้มลงของเลห์แมน บราเธอร์ จนเกือบจะลามไปทั้งระบบการเงิน โดยสาเหตุหนึ่งที่เบนนันเก้ทำหน้าที่ได้ดีในช่วงนั้น มาจากที่เบอร์นันเก้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวิกฤต Great Depression ที่เกิดในทศวรรษ 1930 จึงสามารถเข้าใจวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องตามทฤษฎีเป็นอย่างดีแม้หลายฝ่ายจะมองว่าการแก้ปัญหาในครั้งนั้นของเบอร์นันเก้นำมาซึ่งเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำไปทั่วโลกจนกระทั่งมาเกิดวิกฤตเงินเฟ้อและวิกฤตแบงก์สหรัฐในขณะนี้

ท่านที่สี่ คือ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ โดยเยลเลนมีสามีชื่อว่า จอร์จ อาเคอลอฟ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ร่วมกันเขียนงานวิจัยหลายชิ้น ที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะเป็นด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน จึงทำให้เยลเลนเป็น อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐที่ให้ความสำคัญกับการว่างงานเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เยลเลนถือเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สานต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ต่อจากเบอร์นันเก้ในฐานะประธานธนาคารกลางสหรัฐในขณะนั้น โดยเยลเลนเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในปี 2015 หลังวิกฤตซับไพร์มเกิดขึ้นมา 7 ปี ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจะเลือกเจย์ พาวเวลมาเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐต่อจากเธอ และในเวลาต่อมาเยลเลนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ในคณะรัฐมนตรีของโจ ไบเดนในขณะนี้

จากเรื่องราวทั้งหมดของ Four Weddings จึงนำมาซึ่ง A Funeral นั่นคือวิกฤตโควิด-19 วิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก และวิกฤตแบงก์สหรัฐและยุโรป ในตอนนี้

ถ้าจะมีจุดที่ผมมองว่าเป็นจุดด้อยของหนังสือเล่มนี้ คือการประยุกต์ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์กับเหตุการณ์ในบางบท ผมมองว่ามีความเห็นของผู้แต่งแทรกอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งในบางบท ผมคิดว่าน่าจะไม่ถูกต้องกับทฤษฎีไปหมดเสียทีเดียว อาทิ ในบทที่นำเสนอถึง 2 นักเศรษฐศาสตร์นามว่าวิลเลี่ยมไวท์และคลาดิโอโบลิโอที่ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ประเมินว่าได้คาดการณ์ไว้อย่างถูกต้องว่าจะเกิดวิกฤตการเงินในเวลาต่อมาจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางทั่วโลกหลังวิกฤตซับไพร์มนั้นต้องบอกว่าน่าจะไม่ตรงกับความจริงมากเท่าไหร่

ทว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงโทนนโยบายการเงินจากแบบผ่อนคลายมาสู่แบบเข้มงวดภายใน 1 ปีมากกว่า  สำหรับวิกฤตแบงก์สหรัฐในรอบนี้ รวมถึงการย้ำว่าการใช้นโยบายการเงินแบบ ‘lean against the wind’ หรือขึ้นดอกเบี้ยให้สูงเล็กน้อยไว้ก่อน จะเป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจก็น่าจะไม่ถูกต้องเสมอไป

  ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments