ตลาดหุ้นบ้านเรา ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ เหมือนกำลังโดนทดสอบความแข็งแกร่งจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก ซึ่งดัชนีถือว่าผันผวนอยู่ไม่น้อย
บทความนี้จะขอเรียงลำดับภาพใหญ่การลงทุนของโลก และกล่าวถึงปัจจัยที่กำหนดทิศทางการลงทุนในบ้านเราจากปัจจัยภายนอก โดยจะชี้ว่าภูมิภาคอาเซียนได้รับผลเชิงลบน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ
จากนั้นจะมาประเมินปัจจัยภายในประเทศ เพื่อประเมินว่าเพราะเหตุใดจึงทำให้นักลงทุนต่างประเทศหรือฝรั่งซื้อหุ้นไทยหากนับตั้งแต่ต้นปีนี้ถึง 1.2 แสนล้านบาท รวมถึงเดือนนี้ จนถึงวันพุธที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฝรั่งกลับซื้อสุทธิอีกครั้ง แล้วจึงมาตอบคำถามที่ว่า ‘ทำไมฝรั่ง… เหมือนยังจะซื้อหุ้นไทยต่ออีก’
- ภาพใหญ่ตลาดหุ้นโลกในตอนนี้
ผมมองว่า ณ กลางเดือนพฤษภาคม ตลาดหุ้นโลกที่นำทัพโดยตลาดสหรัฐ ยังมีโอกาสลงต่อมากกว่าที่จะกลับมาเป็นขาขึ้น โดยดัชนี S&P500 นับตั้งแต่ต้นปี ลงไป 18% แล้ว แม้จะดูไม่น้อย ทว่าเป็นระดับโดยเฉลี่ยที่ตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งโดยไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยลดลง ทว่าในครั้งนี้ ผมยังมองว่าโอกาสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีอยู่มากกว่า จึงมองว่ารอบขาลงของตลาดหุ้นโลกยังไม่จบ ทั้งนี้ปัจจัยขับเคลื่อนตลาดหุ้นโลกนอกจากเฟด ยังมีสงครามรัสเซียบุกยูเครน และ การล็อคดาวน์จากนโยบาย zero-covid ของรัฐบาลจีน
- อาเซียน เหมือนได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลักโลก ค่อนข้างน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าดูเหมือน อาเซียนจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลักของโลก: เฟด รัสเซีย และ จีน ค่อนข้างไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
โดยเฟด บ้านเราถือว่าเป็นกลุ่มปลายน้ำไปแล้ว ส่วนสงครามรัสเซียบุกยูเครน เราเข้าพอได้กับทั้งสองฝั่ง ส่วน นโยบาย zero-covid ของรัฐบาลจีน ถือว่าเราชินแล้ว
สิ่งนี้ เป็นภาพสะท้อนต่อผลตอบแทนการลงทุน โดยจะเห็นได้ว่า อัตราผลตอบแทนหุ้นของอาเซียน นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่ระดับประมาณ -3% ถึง 2% ถือว่าดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ที่เฉลี่ย -14% หรือตลาดเกิดใหม่ (EM) อื่นๆ หากมองแบบชัดเจน ไม่ต้องดูอื่นไกล ค่าครองชีพ ที่ว่าโหดๆของบ้านเรา ก็ยังดีกว่า อังกฤษ หรือยุโรป ในตอนนี้
หากพิจารณาผลตอบแทนในช่วงนี้ ตลาดหุ้นไทย ถือว่าแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
- อัตราผลตอบแทนสัปดาห์ที่ผ่านมา นับจนถึงวันพุธที่ 18 พฤษภาคม ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดเดียวในอาเซียนที่มีผลตอบแทนเป็นบวก
- อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 1 เดือน: ตลาดหุ้นไทยติดลบ 3.8% ส่วน ตลาดหุ้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ติดลบ 6-7%
โดยหาก SET มีผลตอบแทนเหมือนหุ้นอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นบ้านเราลงไปถึง 1,400 แล้ว ซึ่งตรงนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีนักวิเคราะห์บางท่านในบ้านเราก็มองแบบนั้น แต่ตลาดหุ้นบ้านเราไม่ได้เป็นเช่นนั้นในตอนนี้ คำถามคือเพราะอะไร?
- ทำไม SET แข็งกว่า ตลาดหุ้นอื่นในอาเซียน ณ ตอนนี้?
ผมมองว่า SET ที่แข็งพอสมควร ณ ตรงนี้ มาจาก 5 เหตุผล ดังนี้
- ตัวเลขการส่งออก และ ภาคท่องเที่ยว ในปี 2022 ประมาณการไม่ได้รับการทบทวนในเชิงลบจากสภาพัฒน์ รวมถึง การบริโภคภาคเอกชน (Core ของ เศรษฐกิจไทย) ประมาณการลดลงเพียงเล็กน้อย
- ไทย น่าจะเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่น่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ทว่าสำรองเงินตราระหว่างประเทศ หรือ Forex Reserve และนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนจะช่วยประคองเงินบาทไปในระหว่างนี้
- การเมืองไทย ดูแล้วไม่เป็นลบ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ณ ตรงนี้
- ตลาดหุ้นบ้านเราชอบนโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทย อาทิ ภาษีน้ำมันดีเซล และ นโยบายเงินชราภาพของประกันสังคม
- นโยบายเปิดเมืองจากโควิดจากประเทศต่างๆ: ไทยได้รับอานิสงก์เชิงบวกมากสุดในอาเซียน เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยต่อจีดีพีเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน
และนี่คือส่วนหนึ่งของคำตอบที่ว่า ‘ทำไมฝรั่ง… เหมือนยังจะซื้อหุ้นไทยต่ออีก’
- ตลาดหุ้นไทย จะขึ้น หรือ ลง ในช่วงถัดไป?
ผมมองกรอบ SET ระหว่าง 1,500 – 1,700 ว่าน่าจะเป็น ช่วงดัชนีสำหรับการเทรดในไตรมาสนี้
โดยจากปัจจัยบวกต่างๆข้างต้น ผมมองว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีผลตอบแทนไม่น่าจะแพ้ตลาดอื่นๆของโลกในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ก็มีปัจจัยเชิงลบ Downside จาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อไทย ออกมาเกินคาดมาก
- ตัวเลขเงินเฟ้อ US PCE Inflation ที่จะออกมาในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ สูงเกินคาด และเฟดขึ้นดบ 0.75% กลางเดือนหน้า
- จีนไม่เปิดเมืองตามคาด ในเร็วๆนี้
- คำแนะนำ สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ณ ตรงนี้ ผมมองว่าน่าสนใจใน 2 เซกเตอร์ ดังนี้
- หุ้นส่งออก ใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน: KCE, HANA, CPF, TU และ Asian เพื่อเน้นการเทรดดิ้งระยะสั้น
- หุ้นค้าปลีก/ท่องเที่ยว รับเปิดเมือง: CPALL, HMPRO, MAKRO, CENTEL และ CPN เพื่อเน้นการเทรดดิ้งและลงทุนระยะสั้น
โดยสรุป ผมมองว่า ณ ตรงนี้ ตลาดหุ้นโลกน่าจะยังเป็นขาลง… แต่หุ้นไทยไม่แน่ว่าอาจจะเป็นขาลง หรือ พอจะ Sideway ได้
ที่มาภาพ: Bank Underground
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ