นับตั้งแต่ปี 1992 หากว่าไม่นับรวมออสเตรเลียแล้ว อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษถือว่ามีเสถียรภาพที่ดีเกือบที่สุดในบรรดาประเทศตะวันตกทั้งหลาย โดยมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2 พอดิบพอดี โดยแม้ว่าก่อนหน้านี้ อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษเคยอยู่ในระดับที่แตะเกือบร้อยละ 10 ในช่วงยุค 1970 จนถึง 1980 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ความผันผวนของตัวเลขจีดีพีอังกฤษนับตั้งแต่ปี 1992 ก็ลดลงมาค่อนข้างมากเช่นกัน
โดยเสถียรภาพที่ดีขึ้นเป็นอย่างมากทั้งในส่วนของระดับราคาและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอังกฤษดังกล่าวนั้น นับว่าต้องให้เครดิตต่อแนวทาง ’อัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย‘ ที่ธนาคารกลางอังกฤษนำมาใช้นับตั้งแต่ปี 1992
หากจะพิจารณาว่าแนวทางอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายส่งผลดีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจอังกฤษมากน้อยเพียงใด อาจจะตอบได้ค่อนข้างยากในช่วงแรกของการนำมาใช้ เนื่องจากระหว่างปี 1992 ถึง ปี 2008 สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างที่จะไม่มีแรงกระเพื่อมหนักๆมากระทบทั้งในมิติของจีดีพีและระดับราคา
อย่างไรก็ดี หลังปี 2007 ที่เกิดวิกฤตต่อธนาคาร Northern Rock ในอังกฤษ จนกระทั่งเกิดวิกฤตซับไพร์มที่สหรัฐในเวลาต่อมา แนวทางอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธนาคารกลางอังกฤษนำมาใช้ ก็ได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งว่าสามารถใช้งานได้ดี โดยที่แม้จะเกิดความผันผวนต่อทั้งอัตราเงินเฟ้อและจีดีพีในระยะสั้นก็ไม่ได้ทำให้ความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อของตลาดสูงขึ้น ทว่ายังคงอยู่ในระดับที่ราวร้อยละ 2 เช่นเดิมซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเศรษฐกิจอังกฤษในยุคก่อนปี 1992 ที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
หาพิจารณาข้ามมาสู่ปี 2021 ซึ่งวิกฤตโควิดที่ถือว่ามีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตซับไพร์ม ได้มาเยือนอังกฤษอีกครั้ง แนวทางดังกล่าวจึงได้ถูกทำการทดสอบอีกครั้งหนึ่ง โดยที่วิกฤตรอบนี้ ธนาคารกลางอังกฤษได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนเหลือศูนย์และกลับมาดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์หรือ QE อีกรอบ โดยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ แบงก์ชาติอังกฤษจะมีสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาลราว 1 ล้านล้านปอนด์ หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 40 ของจีดีพี
สำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ได้ใหญ่โตมากเหมือนกับสหรัฐและยุโรป มีคำถามต่อมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ของแบงก์ชาติอังกฤษในสองประเด็น คือ หนึ่ง การที่ยังคงกระตุ้นผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นเวลานานมาก จะส่งผลให้การเข้าถึงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายยังจะสามารถทำได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ และ สอง การที่รัฐบาลอังกฤษเอง ณ ตอนนี้ ได้ก่อหนี้อยู่ในระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ อาจทำให้แบงก์ชาติอังกฤษถูกมองว่าจำเป็นต้องยอมให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีก เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลที่ต้องชำระหนี้ต่อด้วยกรอบเวลาที่ค่อนข้างยาวนานนับจากนี้
ทีนี้ มาพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆที่ทำให้มีการคาดกันว่า แบงก์ชาติอังกฤษน่าจะมีแรงกดดันให้จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังนี้
หนึ่ง แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นกันในทุกเศรษฐกิจ ที่เมื่อเริ่มมีการเปิดเมืองหลังจากสถานการณ์โควิดลดความรุนแรงลง ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักอย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากการหยุดการบริโภคสินค้าและบริการในช่วงโควิด ทำให้มีแรงการจับจ่ายใช้สอยชดเชยในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งมาจากผลของฐานของระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงโควิดที่ต่ำอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในกรณีของเศรษฐกิจอังกฤษ ยังมาจากแรงบวกเพิ่มเติมอีก 2 แรง อันประกอบด้วย
- ขนาดของแพ็คเกจการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและ QE จากแบงก์ชาติอังกฤษถือว่าสูงเกือบจะที่สุดในโลก ด้วยขนาดร้อยละ 19 ต่อจีดีพี ส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษกลับมาเติบโตอีกครั้งได้อย่างรวดเร็วมาก
- ด้วยขนาดของเงินออมของประชาชนและบริษัทต่างๆในอังกฤษที่สะสมมาจากช่วงกักตัวระหว่างสถานการณ์โควิด ประมาณ 2 แสนล้านปอนด์ และ 1 แสนล้านปอนด์ ตามลำดับ ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการของชาวอังกฤษในช่วงหลังโควิดเป็นอย่างมาก
สอง ระดับราคาของสินค้าและบริการของเศรษฐกิจอังกฤษที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงนี้ เริ่มจะกระจายตัวไปยังหมวดสินค้าและบริการต่างๆที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจากเดิมที่กระจุกอยู่ที่หมวดพลังงาน อาหาร และยานยนต์ ก็เริ่มที่จะกระจายไปยังหมวดสินค้าและบริการทั่วไปมากขึ้น
นอกจากนี้ ระดับอัตราเงินเฟ้อคาดหวังของอังกฤษถือว่าได้ขึ้นมาอยู่ในจุดสูงสุด นับตั้งแต่เริ่มมีการใช้มาตรการอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในปี 1992
สาม การที่เศรษฐกิจอังกฤษในช่วงหลังโควิดสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าวิกฤตในช่วงซับไพร์มค่อนข้างมาก จึงส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ ต่ำกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้ออังกฤษเดือนตุลาคมที่ออกมาค่อนข้างเยอะ
ท้ายสุด ปรากฏการณ์ Great Resignation ที่ชัดเจนมากในสหรัฐ ได้ทำให้อุปทานแรงงานในตลาดสหรัฐลดลงเยอะ จึงส่งผลให้ระดับค่าจ้างในสหรัฐทยอยสูงขึ้น และนำมาซึ่งการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผิดกับสถานการณ์ตลาดแรงงานในอังกฤษที่ยังคงดำเนินไปตามปกติ จึงคาดการณ์ว่าค่าจ้างไม่น่าจะสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ไม่สูงขึ้นมากนัก
อย่างไรก็ดี ตัวเลขอัตราเงินเฟ้ออังกฤษเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 4.2 นับว่าสูงกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมาก จึงมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอังกฤษมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ไม่เกินช่วงไตรมาสแรกของปี 2022
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ