อย่างที่ผมเคยเขียนบทความ ‘คริส วอลเลอร์ : ว่าที่ Dissenter ในเฟดโหวต’ เมื่อ 3 เดือนก่อนว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดน่าจะเริ่มมีเสียงโหวตแบบเสียงแตกในปีนี้ โดยผมมองว่า คริส วอลเลอร์ สมาชิกเฟดน่าจะเป็นคนที่เป็นเสียงส่วนน้อยในการโหวตของสมาชิกในอนาคต
ปรากฎว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในช่วงเวลาก่อนที่บันทึกการประชุมเฟดสำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมจะออกมา ซึ่งมีการยอมรับว่าสำหรับการประชุมครั้งถัดๆไป มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการโหวตแบบเสียงแตก ทางคริส วอลเลอร์ ก็กล่าวสุนทรพจน์ในทำนองว่าต้องการขึ้นดอกเบี้ยไม่เป็นการประชุมในเดือนมิถุนายน ก็จะเป็นการประชุมเดือนกรกฎาคม ในครั้งใดครั้งหนึ่ง บทความนี้ จะขอไปทำความเข้าใจกับตรรกะของ วอลเลอร์ว่าเพราะเหตุใดจึงมีความเห็นเป็นเช่นนั้น
โดยวอลเลอร์มองว่าการตัดสินใจว่าจะขยับดอกเบี้ยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมาในระหว่างตอนนี้ถึงวันประชุมเฟด (13-14 มิถุนายน) โดยตัวเลขเศรษฐกิจสุดท้ายคือตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมที่จะออกมาในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ และกับสภาพความตึงตัวของสินเชื่อในระหว่างนี้ ซึ่งตัวเขาเองมองว่าในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก ออกมาเติบโต 1.1% นั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีสหรัฐไตรมาสสอง ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
โดยผลการสำรวจของภาคเอกชนโดย Blue Chip Survey ออกมาว่าจีดีพีสหรัฐจะเติบโตเพียง 0.1-0.2% ส่วนคาดการณ์ของ Atlanta Fed’s GDPNow มองว่าโตถึง 2.9% โดยที่ตัวเลขยอดขายค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายนหลังจากที่ตัวเลขลดลง และทรงๆในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า
โดยวอลเลอร์มองว่าหากเขาจะตัดสินใจขึ้นหรือคงดอกเบี้ย ขึ้นกับ 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ความตึงตัวของตลาดแรงงานสูงมากไหม?
ในประเด็นนี้ แม้วอลเลอร์ได้ชี้ไปที่ตัวเลขการจ้างงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าอัตราการว่างงานลดลงมาสู่ระดับ 3.4% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงค่าจ้างรายชั่วโมงที่ขยับขึ้นมาที่ 4.4% อย่างไรก็ดี ก็มีสัญญาณที่ส่อว่าตลาดแรงงานเริ่มจะชะลอความร้อนแรงลงบ้างแล้วเช่นกัน
โดยระดับการจ้างงานแบบสัญญาชั่วคราวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สามและถือว่าลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ จำนวนตำแหน่งงานว่างยังลดลงมาอยู่ที่ 384,000 ตำแหน่ง ในเดือนมีนาคม หรือคิดเป็นสัดส่วนระหว่างตำแหน่งงานว่างต่อ 1 คนในวัยทำงานที่ระดับ 1.6 ซึ่งลดลงจากระดับสูงสุดที่ 2 เท่า อย่างไรก็ดี สัดส่วนดังกล่าวก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่ รวมถึงอัตราการลาออกจากงานก็ลดลงมาก ซึ่งเป็นสัญญาณของความเชื่อมั่นที่น้อยลงต่อตลาดแรงงานของผู้ใช้แรงงาน
โดยตลาดแรงงานที่ถือว่าได้ลดความร้อนแรงลง เขามองว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่ชะลอตัวลงบ้าง ทว่าไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด
2. อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังสูงมากไหม?
ประเด็นนี้ วอลเลอร์ค่อนข้างกังวลทั้งตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ที่โตระดับ 4.93% และ Core CPI ที่ 5.5% ในเดือนเมษายน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 6% เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ที่ถือว่าหนักหนากว่า คือตัวเลขเงินเฟ้อ PCE ที่ออกมาแทบไม่ลดลงจากเดือนที่แล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อ Core PCE เดือนเมษายน ที่ 4.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งยังสูงกว่าตัวเลขเมื่อเดือนที่แล้วเสียอีก โดยชี้ว่ามี 2 ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อสหรัฐ ได้แก่ ราคาของสินค้าที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน กับ ค่าเช่าบ้าน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ ยังไม่ลดลง และที่สำคัญตัวเลขเงินเฟ้อแบบ Super Core หรือ Core non-housing service inflation แบบ PCE ก็ยังสูงเท่ากับ Core PCE อีกด้วย
3. ความตึงตัวของสภาพสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินสหรัฐมีมากไหม?
ประเด็นนี้ วอลเลอร์มองว่าความตึงตัวของสภาพสินเชื่อของสหรัฐจากผลสำรวจของเฟดและการรายงานของแบงก์พาณิชย์ ชี้ไปในแนวทางว่าสภาพสินเชื่ออยู่ในสภาพค่อนข้างตึงตัวมากขึ้นในปี 2023 ทว่าไม่ได้รุนแรงเท่ากับเมื่อช่วงที่แบงก์ SVB และ First National Bank ล้มลงในขณะนั้น
โดยสรุป จาก 3 ปัจจัย ที่ตลาดแรงงานยังตึงตัวขึ้นแบบที่มี leading indicator ชี้ไปว่าอาจจะลดความร้อนแรงลงในอนาคต ด้านเงินเฟ้อชี้ไปในแนวทางที่ยังคงสูงอยู่ และสภาพสินเชื่อมีความตึงตัวมากขึ้นระดับหนึ่งในปีนี้ จึงทำให้ดูแล้ววอลเลอร์เหมือนส่อแววว่าจะเป็นเสียงส่วนน้อยที่ยกมือขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเฟดอย่างน้อยครั้งใดครั้งหนึ่งในปีนี้
บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ