รู้ทันนายกฯมหาธีร์ ผ่านวลีฮิต

นายกรัฐมนตรีหน้าเก่าท่านใหม่ของมาเลเซีย ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด วัย 92 ปี มีโอกาสสูงมากที่จะได้เป็นบุคคลแห่งปี 2018 ผมขอพามาทำความรู้จักท่านมหาธีร์ ผ่านวลีติดปากชาวมาเลย์

3158

Mahathir (The Guardian)

นายกรัฐมนตรีหน้าเก่าท่านใหม่ของมาเลเซีย ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด วัย 92 ปี ซึ่งเรียนจบมาด้านแพทย์แต่โชคชะตาหันเหมาเป็นผู้นำของมาเลเซียถึง 2 สมัย มีโอกาสสูงมากที่จะได้เป็นบุคคลแห่งปี 2018 ผมขอพามาทำความรู้จักท่านมหาธีร์ ผ่านวลีติดปากชาวมาเลย์และไฮไลต์ต่างๆที่ถือเป็นจุดสำคัญของแนวคิดในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของท่าน  ดังนี้

หนึ่ง ในวันแรกของการเข้ารับตำแหน่งครั้งใหม่ ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียวัย 92 ปี ได้สั่งทบทวนโครงการใหญ่ๆที่ร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟ HSR ที่เชื่อมระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ ผู้ที่สนับสนุนด้านการเงินก็คือจีนนั่นเอง นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองใหม่ในหัวเมืองใหญ่อีกหลายโครงการ ก็เป็นการร่วมมือผ่านความช่วยเหลือทางการเงินจากจีน ซึ่งนายกฯ มหาธีร์ มองว่าไม่อยากให้มาเลเซียเป็นหนี้กับต่างประเทศมากเกินไป ที่สำคัญ ไม่อยากให้ที่ดินผืนงามๆตกไปเป็นของจีนเสียส่วนใหญ่

นอกจากนี้ เมื่อ 1 ปีที่แล้ว รัฐบาลนายนาจิบ ราซัค ตัดสินใจขายหุ้นบริษัท โปรตอนฯ ให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน เจ้อเจียง จีลี่ โฮลดิงส์ กรุ๊ป เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนสะสมจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลง ทว่ารัฐยังต้องเจียดงบประมาณไป “อุ้ม” ร้อนถึงนายกฯมหาเธร์ต้องออกมาแสดงความในใจผ่านเว็บบล็อกส่วนตัวว่า “รู้สึกเสียใจมาก เกือบจะร้องไห้ได้เลย”

จึงอาจมองได้ว่า  ดีลเอกชนที่มาเลเซียที่เคยเซ็นกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ‘แจ็ค หม่า’ ก็มีสิทธิ์โดนแจ็คพอตได้เช่นกัน แม้มหาธีร์น่าจะไม่แรงกับจีนเหมือนในอดีต แต่เขาถือว่ามีความระมัดระวังในรัฐบาลจีนว่าจะมาคลอบงำมาเลเซียเหมือนครั้งหนึ่งที่สหรัฐเคยทำกับภูมิภาคนี้อย่างยาวนาน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยน่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นเป้าหมายหลักมากขึ้นอีกครั้งของจีน ในการลงทุน หากจะมีอีกประเทศที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นมาของมหาธีร์ก็คือญี่ปุ่น เนื่องจากเขาเคยใช้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้มาเลเซียเป็นเสือตัวที่ห้าในยุคทศวรรษที่ 80 จึงน่าจะมีความทรงจำที่ดีกับทางญี่ปุ่น

สอง ผมมองว่า นายกฯ มหาธีร์ น่าจะดำเนินนโยบาย ‘Malaysia First’ ซึ่งสมัยของท่านเมื่อกว่า 10 ปีก่อนก็ดำเนินการใกล้เคียงกับแนวทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกภาษี GST หรือ subsidy ราคาน้ำมันให้ชาวมาเลเซียได้ใช้น้ำมันด้วยราคาถูก ตามที่ได้สัญญากับผู้ออกเสียงเลือกตั้งในช่วงหาเสียง  โดยล่าสุดได้ตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตผู้บริหารรัฐปีนัง ที่ชำนาญด้านบัญชีเพื่อมาดูแลผลด้านเสถียรภาพการคลังจากนโยบายดังกล่าว

สาม วลีที่พูดติดปากในมาเลเซียว่า Bumiputra หรือ ‘ลูกชายของแผ่นดินแม่’ ซึ่งถือเป็นหัวใจของกฎหมายตามแนวทาง affirmative action ซึ่งสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ในช่วงปี 1981-2003 ได้ออกกฏหมายที่ให้อภิสิทธิ์ต่อชาวมาเลย์เชื้อสายมุสลิม รวมถึงเผ่าดั้งเดิมที่เป็นชนตั้งเดิมของผืนดินมาเลเซีย โดยทั้งสองกลุ่มดังกล่าวมีประชากรคิดเป็นสองในสามของชาวมาเลเซียทั้งหมด

สี่ อีกหนึ่งวลีที่ชาวมาเลเซียคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีสมัยของมหาธีร์คือ ‘Daddy Knows Better’ โดยมองว่าการให้อิสระเสรีจากประชาธิปไตยควรจะมีขีดจำกัด โดยต้องการให้ชาวมาเลเซียเชื่อว่าตัวของนายกฯ มหาธีร์ ซึ่งเปรียบเสมือนบิดาของชาวมาเลเซียรู้ว่าอะไรที่เหมาะกับประเทศมากกว่าชาวมาเลเซียทุกคน เรียกว่า ‘เดินตามผู้ใหญ่ แล้วจะดีเอง’ ทำนองนั้น

ห้า นายกฯ มหาธีร์ เชื่อใน ‘ทฤษฎีสมคบคิด’  ที่ว่าสหรัฐอเมริกาเล่นปาหี่ในช่วง 9/11 ด้วยการชนตึกเวิร์ดเทรดโดยตนเอง เพื่อเป็นเงื่อนไขในการบุกประเทศที่ตนตั้งเป้าหมายไว้ ผมชอบตรรกะของนายกฯมหาธีร์ในการมองเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งการที่เขามองวิกฤตต้มยำกุ้งว่าตะวันตกใช้ไอเอ็มเอฟเป็นเครื่องมือในการเข้ามาบริหารวิกฤตในอาเซียน รวมถึงกล้าใช้คำพูดที่ถือว่ารุนแรงต่อนายจอร์จ โซรอส จึงตัดสินใจหันหลังให้กับตะวันตกในการแก้วิกฤต นับเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวและมั่นใจในความคิดของตนเองเป็นอย่างสูง

นอกจากนี้ เขามองว่า เท่าที่รู้ ISIS ไม่ใช่ขบวนการที่มีความเข้มแข็งหรือมีการบริหารจัดการที่ดี เขาไม่หนักใจมากเท่าไหร่  ทว่าจีนกำลังจะค่อยๆเข้ามาคลอบงำโลก รวมถึงในอาเซียนด้วย โดยเมื่อไตรมาส 3 ปีที่แล้ว เขามองได้ถูกมากว่าจีนจะทะเลาะกับอเมริกาอย่างเป็นเรื่องราวในอนาคต

ท้ายสุด สำหรับวงการลงทุนสำหรับตราสารการเงินที่มีความเสี่ยงสูง อาจต้องระวังกันนิด เพราะนายกฯมหาธีร์เคยไม่ชอบบรรดาเฮดจ์ฟันด์ โดยเขามองจอร์จ โซรอส เป็น ซาตานที่มาหากำไรด้วยการเก็งค่าเงินด้วยทุนที่หนากว่าธนาคารกลางของประเทศจากชาติอาเซียนในปี 1997 โดยเขาเลือกใช้วิธีควบคุมการเข้าออกของเงินทุน ลดการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหนักเพื่อป้องกันเงินตราไหลออกนอกประเทศ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้แนวทางของนายกฯมหาเธร์ช่วยกู้สถานการณ์เศรษฐกิจของมาเลเซียได้ดีพอสมควรในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ตรงนี้ ผมมองว่า การลงทุนบิตคอยน์ น่าจะไม่ได้เกิดในมาเลเซีย ในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้

ผมยังมองว่านายกฯมหาธีร์ รวมถึงนายอัลวา อิบราฮิม ว่าที่นายกฯมาเลเซียท่านต่อไป ค่อนข้างโปรชาติอาเซียนด้วยกันมากกว่าจีนหรือชาติตะวันตก มากกว่านายนาจิบ ราซัค ที่คาดว่าน่าจะถูกดำเนินคดีในกรณี 1MDB ซึ่งไทยน่าจะได้ผลดีจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่มากก็น้อยครับ

Comments