ต้องยอมรับว่าความห่างเหินระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง กับ นายกรัฐมนตรี หลี เค่อ เฉียง ทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่า สุดสัปดาห์นี้
อาจเห็นนายกรัฐมนตรีท่านใหม่กันเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี โอกาสอาจจะไม่มาก คราวนี้ลองหันมาพิจารณา 4 ตัวเต็ง นายกรัฐมนตรีจีนกัน ดังนี้
เต็งหนึ่ง ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายหวังฉิซาน
คำถามที่หลายคนอยากรู้ ในตอนนี้ สำหรับหวังฉิซาน คือเขายังจะมีบทบาทในรัฐบาลจีนต่ออีกหรือไม่ ในช่วงนี้ที่อายุของนายหวังเกิน 68 ปีที่เป็นเส้นขีดการเกษียณของบุคลากรในพรรคคอมมิวนิสต์
China (BangkokBizNews)
โดยไฮไลต์สำคัญสำหรับการประชุม Politburo เที่ยวนี้มีอยู่ 2 คำถาม ได้แก่ หนึ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จะเขียนอะไรที่เป็นพิเศษในระเบียบของพรรคให้ตนเองมีฐานะเทียบเคียงกับเหมา เจ๋อ ตุงและเติ้ง เสี่ยว ผิง หรือไม่ และ สอง นายหวังฉิซาน จะขึ้นมาแทนนายกรัฐมนตรี หลี เค่อ เฉียง หรือไม่ เนื่องจากในช่วงต้นเดือน นายหวังออกโรงพบกับสตีฟ แบรนดอน อดีต Chief of staff ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อปรึกษาแนวทางการรับมือกับประธานาธิบดีสหรัฐทั้งประเด็นการค้ากับเกาหลีเหนือ หลังจากไม่ได้เป็นข่าวมาสักระยะ
ข่าวลือนี้ ถือว่ามีเหตุผลสนับสนุนอยู่พอสมควร เมื่อพิจารณาจากบทบาทที่ควรจะเป็นของนายกรัฐมนตรีหลี ที่น่าจะมาเดินเครื่องนโยบาย One Belt One Road ทว่าในความเป็นจริง ความคืบหน้าของโครงการกับไปตกอยู่ที่ประธานาธิบดีสี ผนวกกับความคืบหน้าของการปราบปรามคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การกำกับของนายหวังฉิซาน ถือว่าเป็นรูปธรรม หลังจากช่วงก่อนหน้านี้ นายหวังก็มีบทบาทในการรับมือกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้เป็นอย่างดี อาจเป็นไปได้เหมือนกันที่รัฐบาลจีนจะแหวกม่านประเพณีเปลี่ยนนายหวังแทนนายหลีในการประชุมหนนี้
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นายหวังได้สร้างสีสันให้กับวงการการเมืองจีนเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นแฟนซีรีส์ฮิตของHBO อย่าง House of Cards และความมีอารมณ์ขันในการพบกับผู้นำคนสำคัญของโลก อย่าง บารัก โอบามา หรือผู้บริหารของแบงก์ยักษ์ใหญ่อย่าง แฮงก์ พอลสัน
เต็งสอง ได้แก่ หลี หยวน เฉา โดยหลีหยวนเฉา ถือเป็น candidate ที่ตีคู่มากับหลี เค่อ เฉียง เมื่อ 5 ปีก่อน ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่เป็นผู้ว่าเมืองเจียงซื่อ ได้ปรับปรุงเมืองในหลายมิติ ทั้งทำ PR กับชาวเมืองนี้ที่มองพรรคคอมมิวนิสต์ในแง่ที่ไม่ดีนัก ปรับปรุงสภาพมลพิษและแวดล้อม รวมถึงสภาพการทำงานของผู้อพยพ
หากพิจารณาจากแบ็คกราวด์เดิม เขาเกิดในเมืองเจียงซื่อซึ่งคนในเมืองนี้มักจะสืบเชื้อสายมาจากบุคลากรชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดี หลังจากนายหลีไปเข้าแคมป์ของลีกเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาเปลี่ยนเป็นกลุ่มคนที่มิได้เป็นลูกหลานของบุคลากรชั้นนำของพรรค ทว่าอาศัยคอนเน็คชั่นจากลีกนี้ในการเติบโตทางการเมือง โดยหู จิ้น เทา ก็เติบโตทางการเมืองมาในลักษณะนี้
ย้อนหลังไปในปี 1983 เส้นทางทางการเมืองของนายหลีเริ่มต้นขึ้นด้วยการแนะนำของเจ้านายที่เป็นบิ๊กของเมืองเซี่ยงไฮ้ให้กับหู เหยา ปัง เพื่อไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการลีกเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน ที่มหาวิทยาลัยฟูตาน จนกระทั่งไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าเมืองเจียงซื่อ บ้านเกิดของเขาเอง ในปี 2002 ที่เมืองนี้ เขาเป็นคนแรกที่นำหลักการบริหารแบบ ”fuwuxing zhengfu” หรือรัฐบาลที่มีสไตล์การทำงานแบบเน้นบริการประชาชน โดยให้ประชาชนในเมืองเป็นผู้ประเมินบุคลากรของทางการ หากใครได้อันดับท้ายๆก็จะโดนลงโทษ ด้วยกระบวนการนี้ เมืองเจียงซื่อขยับอันดับเมืองที่ประชาชนยื่นคำร้องไม่พอใจภาครัฐบาลมากที่สุดจากอันดับ 5 มาเป็นอันดับ 23
ด้วยความสามารถขนาดนี้ หลายคนถึงกับบ่นว่าหากนายหลีหยวนเฉาได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายกฯหลี เค่อ เฉียงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จีนน่าจะไปโรจน์กว่าในตอนนี้
เต็งสาม ไฉ ฉี จุดเด่นของนายไฉ คือ การเลื่อนตำแหน่งของเขาที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของทางการจีน โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี ขยับจากผู้ช่วยผู้อำนวยการของหน่วยงานคณะกรรมการด้านความมั่นคงที่มีประธานาธิบดีสีเป็นประธาน มาเป็นผู้บริหารของเมือง จากนั้นขึ้นมาเป็นนายกเทศมนตรีของปักกิ่งและดำรงตำแหน่งเลขาธิการของปักกิ่งในที่สุด ซึ่งหลายคนงุนงงกับการขึ้นมาอย่างรวดเร็วของนายไฉ ว่ากันว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของพรรคยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีในการเลื่อนตำแหน่งที่กล่าวไว้
ความเปิดใจรับในสิ่งใหม่ๆถือเป็นภาพที่หลายคนมองไฉ ฉี ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ที่มีคนติดตามถึง 10 ล้านคน กล้ามองโลกอย่างแตกต่างโดยสนับสนุนให้ทางการจีนกล้าเปิดให้ชาวจีนใช้ facebook เมื่อครั้งที่มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์กมาเยือนเมื่อปี 2011
ที่น่าจับตาในตอนนี้ คือการให้ความสำคัญกับ cybersecurity จนทางการจีนพัฒนาระบบ cybersecurity ทั้งในแง่กฎหมายและซอฟต์แวร์ เพื่อควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของชาวจีนให้มีความปลอดภัย นั่นหมายถึงเปิดให้ชาวจีนมีเสรีทางเน็ตทว่ามีความปลอดภัยในการใช้ด้วย
เต็งสี่ เฮอ หลีเฟิง ผมมองว่าผู้ที่ความคล้ายคลึงกับอดีตซาร์ทางเศรษฐกิจของจีนอย่างจู หลง จี มากที่สุดในยุคนี้ คือ นายเฮอหลีเฟิง ในปัจจุบัน นายเฮอดูแลความคืบหน้าในโครงการ One Belt One Road ให้กับประธานาธิบดีสี โดยเป็นเบอร์3 ของหน่วยงานขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ดูแล OBOR โดยตรง ซึ่งนายเฮอทำงานด้วยความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีสีโดยตรง นอกจากนี้ ตอนนี้ถือว่าเป็นผู้ที่ดูแลภาพใหญ่เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ในการปรับจังหวะการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนไม่ให้ช้าหรือเร็วจนเกินไปครับ