โมฮัมเหม็ด เอลเอเรียน : ตัวเต็งรองประธานเฟด?

3926

Mohamed El-Erian (BusinessInsider)

เซอร์ไพร์สในช่วงสัปดาห์นี้ คงไม่มีข่าวไหนเกินข่าวที่ทาง Dow Jones และ Wall Street Journal ได้อ้างแหล่งข่าวทำเนียบข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความสนใจนายโมฮัมเหม็ด เอล เอเรียน อดีตผู้บริหารกองทุนยักษ์ใหญ่ PIMCO ให้เข้ามาสัมภาษณ์ในตำแหน่งรองประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด สำหรับหลายคนแล้ว อาจจะมองว่าเป็นแค่ข่าวลวงเนื่องจากดูแล้วไม่ค่อยเห็นความเชื่อมโยงของนายเอลเอเรียนกับวงการธนาคารกลางสักเท่าไร

ทว่าต้องบอกว่ารอบที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ขึ้นมาเป็นประธานเฟดแหล่งข่าวแรกๆ ก็มาจากแหล่งข่าวเดียวกันนี้ จึงมองว่ามีโอกาสอยู่เหมือนกันว่าจะเป็นเรื่องจริงอยู่ไม่น้อย ในความเห็นของผมท่านอื่นที่มีโอกาสอยู่ไม่น้อย ได้แก่ จอห์น เทย์เลอร์ เกลน ฮับบาร์ด และ จอห์น วิลเลียมส์ แต่เมื่อเปิดการสรรหาด้วยพูดคุยกับนายเอลเอเรียน ก็น่าสนใจที่จะมารู้จักกับเขากันสักหน่อย

ผมรู้จักชื่อนายเอลเอเรียนซึ่งมีบ้านเกิดในประเทศอียิปต์ เป็นครั้งแรกเมื่อ 11 ปีก่อน ตอนที่หนังสือพอคเก๊ตบุ๊คของเขาที่ชื่อ ‘When Markets Collide: Investment Strategies for the Age of Global Economic Change’ ได้รับรางวัลFinancial Times/McKinsey Award โดยในช่วงนั้น ถือว่าเป็นหนังสือที่เขียนถึงเศรษฐกิจโลกได้ดีมากเล่มหนึ่ง เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเน้นบทบาทของความคาดหวังในการอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ จากนั้นเขาก็ปรากฏตัวบ้างตามสื่อในฐานะของลูกน้องของนายบิล กรอส อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกองทุน PIMCO ที่ขนาดของตราสารหนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น โดยที่นายกรอสมักจะให้มุมมองของตลาด ส่วนนายเอลเอเรียนมักจะให้มุมมองทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในปี 2014 ทั้งคู่ก็มีอันต้องออกจาก PIMCO ด้วยเหตุผลที่ทั้งคู่ไม่ขอพูดถึง หลังจากนั้น นายเอลเอเรียนก็ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทแม่ของ PIMCO นั่นคือ Allianz โดยที่ส่วนใหญ่แล้ว นายเอลเอเรียนมักจะให้ความเห็นในประเด็นเศรษฐกิจกับสาธารณชนในฐานะนักวิชาการมากกว่าในช่วงหลัง

โดยส่วนตัว นักเศรษฐศาสตร์คนแรกที่ผมติดตามผลงานได้แก่ นายพอล ครุกแมน ส่วนคนที่ 2 ก็คือนายเอลเอเรียนนั่นเอง หากพูดกันตรงๆ นายเอลเอเรียนเป็นคนเก่งในการมองเศรษฐกิจโลกแบบหาตัวจับยาก อย่างไรก็ดี ผมว่าเขาได้ผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่งรองประธานเฟดแต่อย่างใด เนื่องจากให้เทียบฟอร์มในนาทีนี้ระหว่างนายเอลเอเรียน กับคู่แข่งที่เหลืออย่างนายเทย์เลอร์ นายฮับบาร์ด และนายวิลเลียมส์ ผมว่านายเอลเอเรียนก็ยังดูดีกว่าในแง่ของการมองเศรษฐกิจโลก

โดยที่โจทย์ของนายทรัมป์ในการสรรหาตัวรองประธานเฟดท่านใหม่ อยากได้คนที่มีโปรไฟล์คล้ายคลึงกับนายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ อดีตรองประธานเฟด คือ เก่งด้านนโยบายการเงินกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งนายเอลเอเรียนดูจะลงตัวกว่าอีก 3 ท่าน ทว่ายังเป็นรองนายฟิชเชอร์อยู่หลายขุม

ว่ากันถึงความคิดของนายเอลเอเรียนกันสักหน่อย ผมมองเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

  1. เขาเป็นคนที่ถือว่า Hawkish หรือชอบที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลาง สังเกตได้จากการชื่นชมการลดขนาดงบดุลของเฟดหรือ Normalization ว่ามาถูกทางแล้ว
  2. มองเศรษฐกิจจีนว่าเป็นความเสี่ยงของโลก เชื่อว่าความไม่สมดุลของเศรษฐกิจจีนที่เติบโตมาแบบใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ อย่างไรเสีย ฟองสบู่ต้องแตกเข้าสักวัน ตรงนี้ ถือว่าคล้ายกับนายพาวเวลล์อยู่พอสมควรน่าจะไปกันได้
  3. มองว่าตลาดหุ้นไม่ใช่จุดประสงค์ของนโยบายการเงิน หน้าที่หลักของธนาคารกลางคือทำให้เศรษฐกิจดี ไม่ใช่ตลาดหุ้นดี ภายใต้วลีที่ว่า ‘The Fed put is gone’
  4. มองว่าจากนี้ไป นโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายการเงิน ถึงขนาดว่าเขียนหนังสือเล่มล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อนที่ชื่อว่า ‘The Only Game in Town’ พูดถึงเรื่องนี้อย่างเดียวว่าธนาคารกลางจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจน้อยลง

ท้ายสุด แฟนคลับ Bitcoin น่าจะได้เฮ เพราะนายเอลเอเรียนไม่ปิดกั้นศักยภาพของ Bitcoin โดยมองว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ทางการเงินที่ช่วยให้การดำเนินไปของเศรษฐกิจจริงมีความไหลลื่นมากขึ้นกว่าโลกที่ไม่มีBitcoin ครับ

Comments