วิกฤตแบงก์โลกครั้งใหม่.. จะมาแล้วจริงหรือ?

คำถามคือเรากำลังเข้าสู่วิกฤตแบงก์ในระดับโลกครั้งใหม่ อีกครั้งแล้วจริงๆหรือ? เนื่องจากเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ก็มีสถาบันการเงินอย่าง Bear Stearns ที่เกิดปัญหาก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งสำหรับในครั้งนี้ ผมมองแนวโน้มสถานการณ์เป็นดังนี้

1312

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าวิกฤตแบงก์ SVB Bank ถือเป็นความเซอร์ไพร์สในระดับหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ  2 ปีที่สูงเกินร้อยละ 5 หลังจากที่ประธานเฟด เจย์ พาวเวลกล่าวคำให้การต่อสภาคองเกรสแบบที่เข้มต่อเงินเฟ้อมากๆจนผู้ฝากเงินของ SVB Bank แห่กันมาถอนเงินกันยกใหญ่

จนกระทั่งเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางฝั่งยุโรป ราคาหุ้นของธนาคาร Credit Suisse หรือ CS ก็ได้ลดลงแบบค่อนข้างรุนแรง จนกระทั่งธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ได้ทำการเสริมสภาพคล่องให้ด้วยเม็ดเงิน 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิสในวันรุ่งขึ้น กระนั้นก็ดี หุ้นของธนาคาร CS ก็ยังคงมีราคาลดลงในวันศุกร์ที่ผ่านมา

คำถามคือเรากำลังเข้าสู่วิกฤตแบงก์ในระดับโลกครั้งใหม่ อีกครั้งแล้วจริงๆหรือ? เนื่องจากเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ก็มีสถาบันการเงินอย่าง Bear Stearns ที่เกิดปัญหาก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งสำหรับในครั้งนี้ ผมมองแนวโน้มสถานการณ์เป็นดังนี้

คำถามแรก ข้อได้เปรียบและเสียเปรียบสำหรับความไม่แน่นอนของระบบสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐและยุโรป ณ ตรงจุดนี้ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์เมื่อปี 2008 มีอะไรบ้าง?

ผมมองว่าข้อได้เปรียบสำหรับช่วงเวลานี้เมื่อเทียบกับ 15 ปีที่แล้วนั้น คือระบบบริหารความเสี่ยงของระบบธนาคารในยุโรป รวมถึงความโปร่งใสของข้อมูลเกี่ยวกับทั้งสินเชื่อและเงินฝากในยุโรป ถือว่าดีขึ้นกว่าในช่วงวิกฤตซับไพร์มเป็นอย่างมาก โดยปัจจัยหลักคือการนำแนวทางการกำกับสาบันการเงินอย่างบาเซิล 3 เข้ามาใช้แบบจริงจัง นอกจากนี้ เกณฑ์การกำกับสถาบันการเงินของสวิสเซอร์แลนด์ยังถือว่าเข้มงวดมากอีกด้วย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดวิกฤตในระบบสถาบันการเงินของยุโรปจึงถือว่ามีไม่สูงมากนัก แม้ว่าจะมีสถาบันการเงินในยุโรปอีกไม่เกิน 2-3 แห่งที่อาจจะดูมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาแบบต่อเนื่องจากที่เป็นอยู่แล้วก็ตามที

ทีนี้ หันมาพิจารณาระบบธนาคารในสหรัฐกันดูบ้าง คงต้องยอมรับว่ากฎหมายด้านสถาบันการเงินของสหรัฐที่ประยุกต์มาจากเกณฑ์บาเซิล 3 ทว่าผมยังมองว่านำมาแบบที่ไม่ได้เต็มรูปแบบทั้งหมดเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกณฑ์เกี่ยวกับการให้ความสำคัญต่อสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ หรือ Systemically Important Bank (SIB) ซึ่งจะทำให้ต้องได้รับการจับตาให้อยู่ในระเบียบที่เข้มเป็นพิเศษนั้น ไม่ได้มีการนิยามที่คลอบคลุมให้อย่างครบถ้วนมากนัก ดูตัวอย่างได้จากกรณี SVB Bank ที่อยู่ในอันดับ Top20 ของแบงก์ในสหรัฐ ทว่ากลับไม่ได้ถูกจัดให้เป็นแบงก์ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด

โดยในกรณีสหรัฐ ผมมองว่าแบงก์ขนาดกลางในส่วนของ Regional Bank โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีลูกค้าเป็น Tech Start-up ยังน่าจะได้รับการกดดันเป็นพักๆในช่วงถัดจากนี้ ซึ่งทางการสหรัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการประกาศว่าจะระดมสมองทำการปรับเกณฑ์สำหรับแบงก์ขนาดกลาง รวมถึงจะมีการให้การต่อสภาคองเกรสเพื่อที่จะทำการถกประเด็นเรื่องราวดังกล่าวเริ่มต้นในวันที่ 29 มีนาคมนี้ โดยน่าสังเกตุว่าแม้แต่ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเอง ยังมาให้ความเห็นว่าควรจะต้องให้ผู้บริหารของแบงก์สหรัฐร่วมรับผิดชอบทั้งในทางแพ่งและอาจจะรวมถึงอาญาต่อการเกิดวิกฤตสำหรับแบงก์ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ กระนั้นก็ดี ระบบแบงก์กิ้งสหรัฐในปี 2023 ถือว่าก็ยังดีกว่าในช่วงปี 2008 ค่อนข้างมาก

สำหรับข้อเสียเปรียบในช่วงนี้เมื่อเทียบกับปี 2008 ผมมองว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่

1. ตัวช่วยหลักของวิกฤตโลกในปี 2008 คือเม็ดเงินจากทางการจีนที่ตอนนั้นยังมีอยู่เต็มมือ ซึ่งผิดกับในช่วงนี้ ที่ทางการจีนจำเป็นต้องพะวงกับสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ รวมถึงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของตนเองที่เริ่มจะแผ่วลง ซึ่งผิดกับในช่วง 15 ปีที่แล้ว ซึ่งจีนยังมีความพร้อมที่จะมาร่วมกอบกู้เศรษฐกิจโลกให้หลุดจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

2. สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงนี้ ถือว่าสูงกว่าในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหายูเครน/รัสเซีย หรือแม้กระทั่งการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองด้านการชิงความเป็นเบอร์หนึ่งของโลกระหว่างจีนกับสหรัฐ นี่ยังไม่นับความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันอีก ซึ่งตรงนี้ ถือว่าไม่ใช่บรรยากาศที่ดีนักในการต่อสู้กับวิกฤตสถาบันการเงินของโลกเท่าไหร่นัก

และ 3. ระดับอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้การที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตสถาบันการเงินหากเกิดขึ้น น่าจะทำได้ยากกว่าในปี 2008 ที่สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมาแก้ไขปัญหาให้จบลงได้ง่ายกว่า

แล้วก็มาถึงคำถามสำคัญ แล้วเราใกล้จะต้องเผชิญกับวิกฤตสถาบันการเงินโลกในช่วงนี้แล้วจริงหรือ?

ตรงนี้ ผมก็ยังมองว่าเราอาจต้องเผชิญกับวิกฤตสถาบันการเงินแบบหนักหนาระดับหนึ่งก็จริงอยู่ ทว่าผมมองว่าวิกฤตในครั้งนี้หากเกิดขึ้นจริง ผมก็ยังประเมินว่าอย่างเต็มที่ ก็น่าจะเป็นวิกฤตในระดับภูมิภาคมากว่า โดยที่ฝั่งยุโรป หากสถานการณ์ย่ำแย่ลงกว่า ก็ยังมองว่าน่าจะลามไปต่ออีกก็ไม่น่าเกิน 2-3 แบงก์ ส่วนฝั่งสหรัฐนั้น ปัญหาหรือวิกฤตหากเกิดขึ้นถึงขั้นนั้น ก็น่าจะกระจุกอยู่ในกลุ่มแบงก์ขนาดกลางมากกว่าที่จะกระทบไปทั้งระบบของแบงก์สหรัฐ

สำหรับบ้านเรา ความเชื่อมโยงระหว่างแบงก์ไทยกับทั้ง regional bank ของสหรัฐ และแบงก์ที่อยู่ในข่ายมีประเด็นถือว่ามีอยู่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ผมมองว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างไม่มีนัยยะสำคัญเท่าไรนักต่อระบบแบงก์กิ้งของไทย

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments