Trade War China/US<CNN Money>
สงครามการค้าหรือ Trade War แม้ดูเผินๆแล้ว จะไม่ได้ใหญ่โตมากเหมือนวิกฤตซับไพร์มและเหมือนจะแค่เป็นการบลัฟกันระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ล่าสุดเริ่มมีขอบเขตกว้างไปถึงการห้ามมิให้จีนและประเทศอื่นๆเข้ามาซื้อเทคโนโลยีของสหรัฐ และอาจรวมถึงการกีดกันการลงทุนระหว่างประเทศอีกต่างหากโดยกลไกการแผ่ขยายความเสียหาย มีการทวีคูณจากความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังน่ากังวลว่าจะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกือบทุกคนเชื่อว่าวิกฤตกำลังจะมาแม้จะยังไม่ถึงขนาดนั้นหากมองในแง่ปัจจัยพื้นฐาน แล้วทำให้เกิดขึ้นจริงๆหรือ Self-fulfilling แบบที่ไปหาดุลยภาพที่แย่ (Bad Equilibrium) นอกจากนี้ ยังมีการแพร่เชื้อสงครามหรือ contagion กว้างขึ้นมาที่ยุโรปและละตินอเมริกาแล้ว บทความนี้ จะขอตอบคำถามถึงการสิ้นสุดและผลกระทบจากสงครามการค้าดังกล่าว
หนึ่ง สงครามการค้า จะจบเมื่อไหร่ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ต้องทราบเสียก่อนว่าเหตุใดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงต้องการเริ่มสงครามนี้ คำตอบคือในทางปฏิบัติ แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่างพอล ครุกแมน ยังยอมรับว่าอเมริกาได้เปรียบประเทศอื่นตรงที่่มีขนาดใหญ่ จึงสามารถบีบให้ประเทศคู่ค้าลดราคาขายลงเพื่อชดเชยผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีหรือ Tariff ของสินค้าต่างๆ ซึ่งในงานวิจัยของนักวิชาการบางท่าน ให้อัตรากำแพงภาษีที่เหมาะสม (Optimal Tariff) สำหรับสหรัฐไว้ถึงร้อยละ 30 หรือสูงกว่านั้นด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งนี้ จะส่งผลให้ชาวอเมริกันสามารถบริโภคสินค้านำเข้าด้วยราคาเท่าเดิม ทว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถเก็บรายได้จากภาษีนี้เพื่อส่งผ่านเป็นประโยชน์ให้กับชาวอเมริกันต่อไป
รูปที่ 1 ผลกระทบของ Tariff ระดับต่างๆต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ที่มา: BEA
อย่างไรก็ดี Optimal tariff อาจจะใช้ได้ผลกับประเทศเล็กๆ ทว่าหากจะสหรัฐคิดที่จะเกทับกับจีน โดยหวังว่าจะบี้ให้ผู้ส่งออกและทางการจีนลดราคาสินค้าเพื่อให้ราคาสุทธิของสินค้าส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศส่งออกอื่นนั้น คงจะยากหรือถือว่าอาจเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขนาดของเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลค่าสินค้าที่ส่งออกและนำเข้าใกล้เคียงหรือใหญ่กว่าสหรัฐเสียอีก รวมถึงชาวจีนมีสุภาษิตที่ว่า民族感情 หรือ พูดตามแบบชาวตะวันออก ‘บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องชำระ’ ท้ายสุด นายทรัมป์คงต้องยอมถอยหลังเจอกลยุทธ์การชนแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันของจีน จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่ายิ่งสหรัฐเล่นจีนแรง ตัวเศรษฐกิจสหรัฐเองก็ยิ่งเสียหายมาก คำถามที่หลายท่านอยากทราบคือแล้วช่วงเวลาใดที่สงครามการค้าจะเริ่มซาลง คำตอบ คือ หลังเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ โดยทรัมป์ใช้สงครามการค้านี้เพื่อหวังเอาใจคะแนนโหวตของชาวอเมริกันผิวขาวชนชั้นกลางซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของทรัมป์ที่ไม่ชอบจีนซึ่งเขาเชื่อว่าจีนเติบโตขึ่นมาเรื่อยๆจนมีวันนี้ได้ก็ด้วยการขาดดุลการค้าของสหรัฐ
สอง สงครามการค้าครั้งนี้ จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐแค่ไหน
รูปที่ 2 ผลกระทบของ Tariff ในเฟสต่างๆต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ที่มา: FT
จากการวิเคราะห์ของ BEA ดังรูปที่ 1 คาดว่ากระทบราวร้อยละ 1.5-3 ของ GDP ทว่าหากรวมผลกระทบจากการตอบโต้จากจีนด้วย จะกระทบสูงสุดถึงร้อยละ 4 ดังรูปที่ 2 ซึ่งถือว่ายังเบากว่าวิกฤตซับไพร์มที่กระทบต่อสหรัฐกว่าร้อยละ 5 ของจีดีพี
สาม สงครามการค้าครั้งนี้ จะกระทบไทยไหม ผมมองว่ากระทบในทางอ้อม ถ้าไม่เกิดการติดเชื้อ (contagion) จากเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ดำเนินนโยบายการเงินที่ค่อนข้างไม่ทันการกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจตนเอง โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3 ต้นๆ แม้อัตราเงินเฟ้อของตนเองจะแซงหน้าอัตราการเติบโตของจีดีพีไปเยอะแล้ว ซึ่งหากประธานาธิบดี โรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ยังไม่ปรับทีมเศรษฐกิจของประเทศ ค่อนข้างน่าห่วงว่าจะเกิดการเก็งกำไรค่าเงินและตลาดหุ้นจากนักเก็งกำไรต่างชาตืเหมือนกับตุรกีเมื่อเดือนที่แล้ว โดยที่ต่างประเทศมักเหมารวมว่าไทยเป็นหนึ่งในตลาด TIP
สี่ กระนั้นก็ดี ผมมองว่าฟันด์โฟลว์ในช่วงไตรมาส 3 น่าจะยังเข้าสู่สหรัฐแบบที่ค่อนข้างผันผวนเป็นพักๆ เนื่องจากยุโรปเสียเปรียบสหรัฐใน Trade War ครั้งนี้ ในแง่ของการขาดความเป็นเอกภาพในการตอบโต้หากยืนระยะยาวๆ รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองที่จะไม่เอายูโรและผู้อพยพทั้งในฮังการี ออสเตรียและอิตาลี ที่สำคัญ โอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษในเดือนสิงหาคมนี้ที่ดูสูงขึ้นมากจากการที่นายแอนดริว ฮาร์เดน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ยกมือสวนให้ขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก น่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่ได้ให้สัญญาณไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ท้ายสุด ค่าเงินดอลลาร์น่าจะแข็งค่าสูงสุดในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เนื่องจากในช่วงกลางปีหน้า ผมคาดว่าจะเห็นบรรดานายธนาคารกลางในภูมิภาคหลักๆ ของโลก เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากวันนี้พอสมควร
เริ่มจากธนาคารกลางยุโรป ช่วงกลางปีหน้า น่าจะกำลังได้ประธานธนาคารกลางยุโรปท่านใหม่ ที่มีนามว่า เจนส์ วีดแมน ประธานธนาคารกลางเยอรมันท่านปัจจุบัน ที่ขึ้นชื่อว่ากลัวเงินเฟ้อตามสไตล์เยอรมัน โดยมาริโอ ดรากี กำลังหมดวาระในเดือน ก.ย. 2019
หันมาทางฟากธนาคารกลางอังกฤษน่าจะกำลังได้ตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ อังกฤษ ท่านใหม่ ในขณะนี้ มาร์ก ฮาร์มอนด์ รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ได้เริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษท่านใหม่แล้ว โดย มาร์ก คาร์นีย์ จะหมดวาระลงในเดือนมิถุนายน 2019 ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษท่านใหม่ น่าจะเป็น เดฟ แรมส์เดน หรือแอนดริว ไบร์เลย์ ทั้งคู่เป็นผู้ที่นิยมการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันทั้งเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงินโดยไม่รู้ตัว จึงมีโอกาสจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างแรง เนื่องจากคำนึงถึงเสถียรภาพด้านการเงินในการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐจะคงเป็นตัวถ่วงไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า โดยที่เฟดเองอาจต้องประเมินจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในต้นปีหน้า
โดยสรุป สงครามการค้าในยกนี้ เหมือนจะรุนแรงกว่ายกก่อนจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่น่าจะคลี่คลายลงหลังเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ต้นไตรมาส 4 ปีนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐเอง