กองทุนลดหย่อนภาษีตลาดสหรัฐ ปี 2567 ที่โดนใจ (2)

บทความนี้ จะขอโฟกัสไปที่กองทุนลดหย่อนภาษีในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยจะขอฉาย แนะนำกองทุนลดหย่อนภาษีแนวเน้นเซกเตอร์แบบเชิงรับหรือ Value จากนั้นพิจารณากองทุนลดหย่อนภาษีแนวเทคโนโลยีหรือแบบเติบโต (Growth) และตบท้ายด้วยภาพกองทุน RMF และ SSF ตลาดสหรัฐแบบรวมทั้งตลาด

163

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP

ต่อเนื่องจากบทความครั้งก่อนหน้า ที่เน้นกองทุนลดหย่อนภาษีของไทยและเอเชีย บทความนี้ จะขอโฟกัสไปที่กองทุนลดหย่อนภาษีในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยจะขอฉาย แนะนำกองทุนลดหย่อนภาษีแนวเน้นเซกเตอร์แบบเชิงรับหรือ Value จากนั้นพิจารณากองทุนลดหย่อนภาษีแนวเทคโนโลยีหรือแบบเติบโต (Growth) และตบท้ายด้วยภาพกองทุน RMF และ SSF ตลาดสหรัฐแบบรวมทั้งตลาด

เริ่มจากกองทุนหุ้นสหรัฐแนวเน้นเซกเตอร์แบบเชิงรับหรือ Value ได้แก่

KFGBran-RMF และ KFGBran-SSF ซึ่งมีกองต้นทางอ้างอิง (Feeder Fund) ที่ชื่อ กองทุน Morgan Stanley Global Brands

หากใครต้องการกองทุนหุ้นสหรัฐที่มีระดับความเสี่ยงต่ำกว่าตลาดรวม กองทุนนี้ ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีน้ำหนักที่เอียงมาทางกลุ่มหุ้นในเซกเตอร์ Value หรือ เน้นระดับ P/E ที่ไม่สูงและจ่ายเงินปันผลงาม  อาทิ เซกเตอร์การเงิน สินค้าจำเป็น Healthcare และอุตสาหกรรม มากกว่าดัชนี MSCI World Equity Index และ ดัชนี S&P500 ในขณะที่น้ำหนักในกลุ่ม Growth เช่น IT, สินค้าฟุ่มเฟือย, บริการด้านการสื่อสาร และพลังงาน ที่น้อยกว่าตลาด

นอกจากนี้ กองทุน Morgan Stanley Global Brands ยังเลือกหุ้นที่มีมูลค่าแบรนด์สูง หรือ มี Intangible Asset ระดับสูง โดย กลางเดือนธันวาคม 2024 หุ้น 10 ตัวแรก ประกอบด้วย Microsoft, SAP, Visa, Accenture, Intercontinental Exchange, RELX, UnitedHealth, Thermo Fisher Scientific, Becton Dickinson และ Aon ซึ่งถือว่าล้วนแล้วแต่เป็นแบรนด์ที่มีระดับ

ทั้งนี้ แม้อัตราผลตอบแทนในช่วง 2 ปีนี้ จะต่ำกว่าตลาดสหรัฐโดยรวม ทว่าอัตราผลตอบแทนก็สูงในระดับ 2 หลัก โดยหากพิจารณาในระยะยาว พบว่าระดับราคาหรือ NAV มีระดับการแกว่งตัวที่ต่ำกว่าตลาด รวมถึงส่วนใหญ่จะมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าตลาดในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง

หันมาพิจารณากองทุนแนวเทคโนโลยีที่เน้นแบบเติบโต หรือ Growth กันบ้าง

หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ได้แก่ B-InnotechRMF ซึ่งมี Fidelity Funds – Global Technology Fund เป็น Feeder Fund หากเปรียบเทียบกับ T-NextGenRMF ซึ่งมี ARK Next Generation Internet ETF (ARKW) เป็น Feeder Fund โดยอย่างที่ทราบกันว่า แคธี่ วู้ด ผู้บริหาร ARK เป็นผู้บริหารกองทุน ARKW  ดูเหนือกว่า ฮุนโฮ ซอน ผู้จัดการกองทุน Fidelity Funds – Global Technology Fund

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบด้านอัตราผลตอบแทน จะพบว่า B-InnotechRMF ให้อัตราผลตอบแทนในระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) สูงกว่า T-NextGenRMF ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนระยะ 3 ปีติดลบ โดยถือว่าในมิติอัตราผลตอบแทนในอดีตนั้น B-InnotechRMF ทำได้ดีกว่า T-NextGenRMF

ด้านเซกเตอร์ที่ถือครอง ถือว่าทั้ง 2 กองทุน พบว่ามีดีคนละอย่าง โดย B-InnotechRMF เน้นเซกเตอร์ IT สหรัฐที่โดดเด่น ส่วน T-NextGenRMF เน้นเซกเตอร์ Cloud & Digital Wallet ซึ่งหุ้นเติบโตสหรัฐดูโดดเด่น

โดยภาพรวม ผมยังชอบ B-InnotechRMF มากกว่า T-NextGenRMF ด้วยเหตุผลของความมีเสถียรของราคาที่มีมากกว่าด้วย

ท้ายสุด พิจารณากองทุน RMF และ SSF ตลาดสหรัฐแบบรวมทั้งตลาด แนว Active

โดย RMF ประกอบด้วย KUSA-RMF, SCB-RMUSA  และ KFUS-RMF ส่วน SSF ประกอบด้วย SCBUSA-SSF และ KFUS-SSF

สำหรับในภาพรวม กองที่น่าจะถือว่าเสี่ยงกว่าเพื่อน ได้แก่ SCB-RMUSA และ SCBUSA-SSF

โดยจะขอเปรียบเทียบระหว่าง SCB-USA ซึ่งมี Morgan Stanley Investment Funds – US Advantage เป็น Feeder Fund และ K-USA ซึ่งมี Brown Advisory US Sustainable Growth Fund เป็น Feeder Fund ก่อน

หากพิจารณาระดับเซกเตอร์ จะพบว่า SCB-USA มีเซกเตอร์สินค้าบริโภคแบบฟุ่มเฟือย ที่มีน้ำหนักสูงกว่าตลาดมาก ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ที่กองทุนนี้ถือครองหุ้นสไตล์ค่อนข้างหวือหวา รวมถึงหุ้น 10 ตัวแรกของกองทุน SCB-USA มีน้ำหนักถึงเกือบ 60% ของทั้งหมด ในขณะที่ K-USA มีน้ำหนักเพียง 48% ณ กลางเดือนธันวาคม 2024

ทั้งนี้ จะพบว่าแม้กองทุน SCB-USA จะมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าหากพิจารณาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยามที่ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในช่วงขาลง อัตราผลตอบแทนของ SCB-USA  ก็ลดลงแรงกว่าเช่นกัน

ในขณะที่ หากพิจารณาระหว่างกองทุน SCB-USA  และ KF-US ซึ่งมี GQG Partners US Equity Fund เป็น Feeder Fund จะพบว่าเป็นไปในลักษณะทิศทางเดียวกัน นั่นคือ SCB-USA มีเซกเตอร์สินค้าบริโภคแบบฟุ่มเฟือย ที่มีน้ำหนักสูงกว่าตลาด ในขณะที่ KF-US มีเซกเตอร์ Healthcare และ สินค้าที่จำเป็น (ซึ่งทั้งคู่ดูเสี่ยงน้อยกว่าสินค้าบริโภคแบบฟุ่มเฟือย) มีน้ำหนักที่สูงกว่าตลาด ซึ่งแม้กองทุน SCB-USA จะมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าหากพิจารณาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยามที่ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในช่วงขาลง อัตราผลตอบแทนก็ลดลงแรงกว่าเช่นกัน

โดยสรุปคือ คนอยากลงทุนกองทุนประหยัดภาษีในตลาดหุ้นสหรัฐทว่าชอบความเสี่ยงไม่มาก แนะนำ กองทุน KFGBran-RMF และ KFGBran-SSF ส่วนคนชอบความเสี่ยงปานกลาง แนะนำ KUSA-RMF, KFUS-RMF และ KFUS-SSF ด้านผู้ที่ชอบเสี่ยงมากนิดนึง แนะนำ B-InnotechRMF รวมถึง SCB-RMUSA  และ SCBUSA-SSF

Comments