ผมยังจำได้ว่าเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ตอนที่ได้วิเคราะห์กองทุนและหลักทรัพย์ของยุโรปและสหรัฐ รวมถึงภาพรวมของดัชนีตลาดของทั้งคู่ จะพบว่ามีความน่าสนใจไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขทางการเงิน โมเดลธุรกิจ หรืออัตราผลตอบแทน ต้องถือว่าไม่ได้ห่างชั้นกว่ากันสักเท่าไหร่
.
ทว่ามาในวันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเหมือนสิ่งที่ผมเคยประสบมาก่อนหน้าที่ว่าไป ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมขอย้อนรอยว่าจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นยุโรปได้ล้าหลังกว่าสหรัฐแบบแทบไม่เห็นฝุ่นได้อย่างไร
.
– จุดเริ่มต้นของจุดด้อยตลาดหุ้นอังกฤษและยุโรป?
โดยต้นตอของเรื่องนี้นั้น มาจากสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน นั่นคือโรเบิร์ต แมกซ์เวล ผู้บริหารของ Mirror Group ในอังกฤษ ได้เสียชีวิตลงบนเรือในเกาะคานารี่ เมื่อปี 1991 แล้วมีการสอบสวนมูลเหตุการเสียชีวิตของเขา ปรากฎว่าเขาได้ใช้เงินที่เก็บอยู่ในกองทุนบำนาญของตนเองเพื่อมาช่วยกิจการของบริษัท ซึ่งได้ส่งแรงกระเพื่อมต่อวงการต่างๆของอังกฤษจนกระทั่งได้มีการผ่านกฎหมายที่ว่าด้วยหลักการบัญชีว่าด้วยการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินด้านหนี้สินของกองทุนบำนาญในบริษัทอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่าหลักการบัญชี FRS17 ในปี 2000
.
โดยบริษัทในอังกฤษซึ่งมีสัดส่วนอยู่ไม่น้อยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อังกฤษ ต้องทำการประมาณการภาระหนี้สินในกองทุนบำนาญที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดในอนาคต แล้วทำการคิดลดแบบ Time Value of Money เพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดจากหนี้สินดังกล่าวตลอดอายุขัยของพนักงานทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าหนี้สินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอังกฤษเพิ่มขึ้นมาเยอะมากจาก FRS17 ดังกล่าว แน่นอนว่าส่งผลเชิงลบต่อภาพรวมอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทต่างๆในตลาดหุ้นอังกฤษ จนทำให้ความน่าสนใจของบริษัทในตลาดหุ้นอังกฤษลดลงอย่างมาก นี่คือช็อตแรกของความร่วงโรยของตลาดหุ้นอังกฤษรวมถึงยุโรป ซึ่งก็ได้อิทธิพลจากแนวคิดนี้เช่นกัน
.
– เหตุการณ์ด้านเศรษฐกิจยิ่งซ้ำเติมความตกต่ำของตลาดหุ้นยุโรป…
นอกจากประเด็นทางกฎเกณฑ์ทางบัญชีและการเงิน ยังมีเทพีแห่งโชคที่ดูเหมือนไม่เข้าข้างตลาดหุ้นยุโรปเลย ผมขอไล่ตั้งแต่ เหตุการณ์วิกฤตซับไพร์มในปี 2008 ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตยุโรปในปี 2011 ที่คงต้องบอกว่า เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาวิ่งได้แล้ว แต่เศรษฐกิจยุโรปยังคงต้องเดินช้าๆอยู่เลย แล้วก็มาถึง Brexit ซึ่งยุโรปก็เสียอังกฤษไปจากสหภาพซึ่งยิ่งทำให้ Economies of scale ของตลาดหุ้นยุโรปลดลงไปอีก จากนั้น วิกฤตโควิดก็ทำให้ Supply Chain ของภูมิภาคย่ำแย่ลง โดยสหรัฐสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่ายุโรปเพราะมีทรัพยากรเยอะกว่า ท้ายสุด ที่ยุโรปโดนเข้าไปเต็มๆแบบส่งผลในระยะยาว คือ สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ได้ส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของยุโรปให้ต้องเสียเปรียบกลุ่มประเทศหลักของโลก แบบที่น่าจะไม่สามารถกลับมาแข็งแกร่งในมิตินี้ได้อีก โดยทั้งหมดล้วนได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปย่ำแย่ลงแบบเชิงโครงสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
– นักลงทุนภาคสถาบันก็มีส่วนร่วมต่อความตกต่ำของตลาดหุ้นยุโรปและอังกฤษ…
โดยปกติแล้ว ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ทำให้เกิดอัตราผลตอบแทนสูงสุดในพอร์ตโฟลิโอที่ตนเองบริหาร ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องหาตลาดหุ้นที่มี performance สูง หรือที่คาดว่าจะมี performance สูงในอนาคต แน่นอนว่าด้วยเหตุการณ์ตั้งแต่หลักการบัญชี FRS17 มาจนถึงสงครามยูเครนกับรัสเซียนั้น ย่อมส่งผลให้บรรดากองทุนต่างๆ อ่านเกมว่าตลาดหุ้นที่มี performance สูง หรือที่คาดว่าจะมี performance สูงในอนาคต ไม่น่าจะมียุโรปหรืออังกฤษอยู่ในนั้น หรือหากมีอยู่ ก็มีแค่หุ้นบางตัวที่ดูโดดเด่นจริงๆเท่านั้น
.
โดยในกรณีกองทุนรวม อาจจะมีแฟนพันธ์ุแท้ตลาดหุ้นยุโรปและอังกฤษที่ต้องการซื้อกองทุนหุ้นแนวนี้บ้าง ทว่าในกองทุนบำนาญนั้น จะใช้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเป็นหลักในการลงทุนในหุ้น แน่นอนว่าไม่ค่อยมีกองทุนบำนาญไหนที่ลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปและอังกฤษแบบเป็นกอบเป็นกำ โดยส่วนใหญ่ก็จะลงทุนตลาดสหรัฐมากกว่า นั่นคือ นักลงทุนภาคสถาบันเหมือนเป็นตัว Amplifier ให้ผู้เหมือนจะแพ้ในสนามตลาดทุนอย่างยุโรปยิ่งแย่หนักลงเข้าไปอีก
.
โดยจากตัวเลขล่าสุดของทางการอังกฤษ พบว่าระบบกองทุนบำนาญของอังกฤษทั้งอุตสาหกรรมลงทุนในตลาดหุ้นอังกฤษเหลือเพียง 4% ซึ่งคงไม่แปลกที่ในอนาคต กองทุนดังกล่าวจะไม่ถือครองหุ้นอังกฤษเลยแม้แต่ตัวเดียว นอกจากนี้ การที่กฎหมายป้องกันการผูกขาดของยุโรปหรือ EU Antitrust Regulation แรงมากก็มีส่วนทำให้หุ้นในกลุ่ม Tech ที่ส่วนใหญ่มาแนว Winner Takes All อยู่แล้ว ยิ่งไม่สนใจมาจดทะเบียนหลักทรัพย์เพื่อซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปหรืออังกฤษกันไปใหญ่
.
อย่างไรก็ดี ข้อดีของตลาดหุ้นยุโรปก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน โดยดัชนี P/E ของหุ้นในยุโรปไม่ค่อยแพงเวอร์เหมือนหุ้น Magnificent7 บางตัวของสหรัฐ และถือว่าไม่ค่อยมีประเด็นทางการเมืองกับจีนมากสุดๆเหมือนสหรัฐ
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ภาพ: WSJ, SkyNews