กระทิง vs หมี: ตลาดหุ้นสหรัฐกำลังจะไปทางไหน

ณ จุดนี้ จะหา Consensus สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐถือว่าไม่น่าจะง่ายดายนักเนื่องจากภาพเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐสามารถถูกตีความว่ากำลังจะดีขึ้นหรือแย่ลงในอนาคตก็ได้แล้วแต่ว่าจะมีมุมมองที่เชื่อในสมมติฐานใดหรือมองเหลี่ยมไหนจากสิ่งเดียวกัน

585

คงต้องบอกว่า ณ จุดนี้ จะหา Consensus สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐถือว่าไม่น่าจะง่ายดายนักเนื่องจากภาพเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐสามารถถูกตีความว่ากำลังจะดีขึ้นหรือแย่ลงในอนาคตก็ได้แล้วแต่ว่าจะมีมุมมองที่เชื่อในสมมติฐานใดหรือมองเหลี่ยมไหนจากสิ่งเดียวกัน

ผมจึงขอใช้ตัวแทนที่มองว่าเป็นผู้นำความคิดชั้นนำของทั้ง 2 ฝ่าย มาลองชั่งน้ำหนักดูว่าฝั่งไหนดูมีน้ำหนักมากกว่ากัน แล้วแต่วิจารณญาณของท่านผู้อ่าน ดังนี้

ขอเริ่มจากมุมมองกระทิงก่อนผมขอเลือกมุมมองจากคณะการจัดการด้านการเงินมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวลเนียโดยจุดหลักที่ทำให้ฝั่งวาร์ตันมองว่าตลาดหุ้นจะดูสดใสในช่วงที่เหลือของปีนี้คือสมมติฐานที่ว่าแม้ว่าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของโลกนั่นคือสงครามในอิสราเอลจะปรากฎขึ้นมาในช่วงต้นเดือนตุลาคมทว่าจากอดีตที่ผ่านมาสงครามในฝั่งตะวันออกกลางไม่ค่อยจะส่งผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐมากเสียเท่าไหร่ทว่ามักจะไปสร้างความกดดันต่อตลาดพลังงานมากกว่า

นอกจากนี้แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐประจำเดือนกันยายนที่ออกมาล่าสุด จะยังไม่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า แถมยังเพิ่มขึ้นเล็กๆในบางหมวดด้วยนั้น ก็ยังประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดยังจะคงดอกเบี้ยในการประชุมช่วงสิ้นเดือนนี้ โดยมองอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่สูงเกิน 4.9% ในตอนนี้ เป็นปัจจัยที่กดดันต่อความรู้สึกของสมาชิกเฟดหลายท่านให้มีความเห็นว่า ปรากฎการณ์นี้จะเป็นปัจจัยที่เทียบเคียงได้กับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปในตัว

นอกจากนี้ ยังพึงพอใจกับระดับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ยังคงอยู่ใกล้เคียงระดับ 8% รวมถึงเหตุการณ์การประท้วงของคนงานในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และวงการบันเทิงถือว่าเกือบจะยุติลงแล้วเกือบทั้งหมด ทว่าก็ได้ชะลอการผลิตของอุตสาหกรรมด้านปลายน้ำไปค่อนข้างนาน จึงทำให้มองว่าการประชุมเฟดในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ น่าจะมีโอกาสสูงทึ่จะคงดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี การที่ยังไม่มีสัญญาณของเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะชะลอตัวลงในช่วงนี้ ซึ่งดูได้จากตัวเลข Retail Sales สหรัฐ ประจำเดือนกันยายน ยังคงขึ้น 0.7% จากเดือนก่อน และตัวเลข Initial Jobless Claims ถือว่ายังค่อนข้างต่ำ นั่นหมายความว่าการลดดอกเบี้ยของเฟด ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้เช่นกัน

ที่สำคัญ ฝั่งกระทิงนี้ มองว่าระดับกำไรต่อหุ้นของดัชนี S&P500 ตลาดสหรัฐ ณ ตรงนี้ อยู่ที่ $250 และค่า P/E อยู่ที่ 18 เท่า ถือว่าเป็นระดับที่ไม่น่าจะมีการเก็งกำไรแต่อย่างใด โดยมองว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจ ณ และ Valuation ของตลาด ตรงนี้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะดูแล้วเหมือนจะมี room ที่สามารถพอจะขึ้นไปต่อได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และน่าจะเป็นปีที่ดีได้ในปีหน้า

โดยที่ตลาดหุ้นสหรัฐในส่วน Small Cap ยังน่าจะทำผลงานสู้กับ Big Cap ไม่ได้ต่อไป เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าด้วย

คราวนี้ มาดูฝั่งหมีกันบ้าง ผมเลือกเจฟฟรีย์ กันดลาช แห่ง ดับเบิ้ลไลน์ แคปปิทัล โดยเขาแนะนำว่าให้นำเงินไปลงทุนตลาดบอนด์สหรัฐไปพลางๆก่อนในขณะนี้ แล้วจ้องหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม แล้วค่อยนำเงินจากตลาดบอนด์ไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐในอนาคต ด้วยเหตุผลดังนี้

กันดลาชให้ความเห็นว่า หากพิจารณาดัชนี S&P500 ในปีนี้ ที่ให้อัตราผลตอบแทนราว 17% ทว่าเมื่อเมื่อนำหุ้น Magnificent 7 ซึ่งประกอบด้วย Apple, Amazon, Microsoft, Tesla, Nvidia, Alphabet และ Meta Platforms ออกมา จะพบว่าอัตราผลตอบแทนของ S&P500 จะเหลือเพียง 5% ทำให้เขามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะมีแรงเก็งกำไรในหุ้นบิ๊กทั้ง 7 ตัวนี้อยู่ค่อนข้างมาก โดย Apple และ Microsoft มีอัตราผลตอบแทนกว่า 30% ในปีนี้ ส่วน Nvidia ให้ผลตอบแทนกว่า 200% อีกทั้งหุ้น 7 ตัวนี้ ยังมีน้ำหนักต่อดัชนี S&P500 ถึงกว่าหนึ่งในสี่ จึงมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะดูดีแบบไม่ทั่วฟ้า แถมยังมีระดับการเก็งกำไรในหุ้นบิ๊กๆอยู่ไม่น้อย

ในทางกลับกัน เมื่อหันไปพิจารณาในตลาดพันธบัตรสหรัฐในตอนนี้ พบว่าใกล้แตะระดับ 5% เข้าไปทุกขณะ โดยยังสามารถหาอัตราผลตอบแทน 7.5% จากบอนด์สหรัฐแบบดอกเบี้ยลอยตัวที่มีระดับเครดิต AAA ได้ไม่ยาก

ทำให้เขามองว่าน่าจะเป็นแนวทางการลงทุนที่ดีกว่า หากนำเงินไปพักในตลาดตราสารหนี้สหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตราสารพันธบัตรหรือบอนด์สหรัฐ โดยรอจนกระทั่งตลาดหุ้นสหรัฐเกิด correction จนสะเด็ดน้ำ แล้วจึงค่อยถอนเงินจากตลาดบอนด์ไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐในตอนนั้น น่าจะดีกว่าที่ยังคงแช่เงินไว้ในตลาดหุ้นสหรัฐแบบตลอด เนื่องจากเขามองว่าเหมือนจะรอวันถูกทิ้งให้อยู่ในระดับดัชนีที่สูง ณ จุดใดจุดหนึ่งในอนาคต

มาถึงตรงนี้ คงต้องให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาเทียบดูทั้ง 2 มุมมอง โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อการตัดสินใจในการลงทุนของท่านต่อไป

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments