ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการอัปเดตจากผู้นำประเทศของเราว่า ขอตั้งเป้าหมายให้อัตราเติบโตจีดีพีของเศรษฐกิจไทยเติบโต 5% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี รวมถึงได้ทำการนัดผู้ว่าการแบงก์ชาติร่วมรับประทานอาหารกลางวันทุกเดือน ทำให้เกิดคำถามในใจผมขึ้นมาว่าการตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจไทย ควรจะใช้แนวทาง ‘อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย’ หรือ ‘อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย’ น่าจะเหมาะสมกว่ากัน?
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ธนาคารกลางหลักทั่วโลก รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย เลือกใช้การตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจไทยตามแนวทาง ‘อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย’ (Inflation Targeting) โดยในขณะนี้ แบงก์ชาติบ้านเราใช้เป้าหมายที่อัตราร้อยละ 1-3 โดยไอเดีย Inflation Targeting แบบย่อๆ คือหากสามารถทำให้ระดับเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ด้วยระดับความผันผวนของเศรษฐกิจและของระดับราคาต่ำที่สุดในระยะยาว
โดยแหล่งกำเนิดของแนวคิด Inflation Targeting มาจากธนาคารกลางนิวซีแลนด์ในปี 1990 จากนั้น แนวคิดนี้ก็มารุ่งเรืองสุดขีดในยุคปลายทศวรรษ 90 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ส่วนหลักมาจากการปลุกปั้นของเจ้าพ่อ Inflation Targeting ที่มีนามว่า ดร. เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคากลางสหรัฐ ซึ่งได้ออกบทวิจัยในหลากหลายมิติสำหรับการพิสูจน์และแสดงว่าหากเศรษฐกิจของประเทศได้มาใช้แนวทางดังกล่าว จะสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้น มีการเติบโตแบบมีเสถียรภาพของทั้งจีดีพีของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา แม้เศรษฐกิจจะต้องเผชิญความไม่แน่นอน (Shock) จากทั้งภายในและภายนอกก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่นอนจากระดับผลิตภาพของประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ ต้องให้ธนาคารกลางมีอิสระจากภายนอกในการใช้นโยบายการเงินเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจนั้นเข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยธนาคารกลางยุโรปได้หันมาใช้แนวทางนี้ในปลายยุค 90 และธนาคารกลางสหรัฐเริ่มใช้แนวทางนี้แบบเป็นทางการในปี 2012
อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ผู้นำประเทศของบ้านเราเน้นย้ำว่าต้องการให้อัตราเติบโตจีดีพีของเศรษฐกิจไทยเติบโต 5% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปีนั้น ทางภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Nominal GDP Growth Targeting (NGDPT)
โดยมีหลายครั้งในอดีตที่มีการกล่าวถึงแนวคิดนี้ขึ้นมา รวมถึงพูดถึงความเหมาะสมในการใช้แนวทางดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัวบางประการ ดังนี้
สำหรับงานวิจัยแบบเชิงลึกที่มีการพูดถึงการบริหารเศรษฐกิจแบบใช้ NGDPT ได้เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารกลางอินเดียเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุว่าแนวทาง Inflation Targeting น่าจะมีความเหมาะสมกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือ DM มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือ EM เนื่องจากความไม่แน่นอนจากระดับผลิตภาพ (Productivity Shock) ของประเทศมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจสำหรับกลุ่ม DM มากกว่ากลุ่ม EM
โดยในงานวิจัยนี้ ได้มีการพิสูจน์แบบใช้สมการ Loss Function ของธนาคารกลาง ซึ่งหมายถึงความผ้นผวนของเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตจีดีพีจากเป้าหมาย เพื่อพิจารณาว่าระหว่างแนวทาง Nominal GDP Growth Targeting กับ Inflation Targeting แบบไหนที่ให้ค่า Loss ของธนาคารกลางต่ำกว่ากัน
ผลปรากฎว่าเงื่อนไขที่จะทำให้ NGDPT ดีกว่า Inflation Targeting ในการบริหารเศรษฐกิจ ก็ต่อเมื่อความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มาจากฝั่งอุปทาน (Supply Shock) โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งราคาระหว่างสินค้าส่งออกและนำเข้า (Terms of Trade Shock) มีระดับสูงกว่าระดับค่าๆหนึ่ง และ เส้นอุปทานรวม (Aggregate Supply Curve) ของเศรษฐกิจประเทศต้องไม่ตอบสนองต่อราคามากนัก
โดยสำหรับเงื่อนไขแรก เศรษฐกิจไทยมีความผ้นผวนของ Terms of Trade Shock สูงกว่าค่าดังกล่าว ทว่า สำหรับเส้นอุปทานรวมของไทยนั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะมีคุณลักษณะเข้าเงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งทำให้ผมไม่แน่ใจว่าแนวทาง Nominal GDP Growth Targeting จะเหมาะสมกับเศรษฐกิจบ้านเรามากกว่า Inflation Targeting หรือไม่
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอินเดียก็ตัดสินใจไม่ใช้แนวทาง Nominal GDP Growth Targeting โดยยังใช้แนวทาง Inflation Targeting บริหารเศรษฐกิจตามเดิม
นอกจากนี้ เจมส์ บูลลาร์ด อดีตคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวว่าแนวทาง NGDPT ถือว่ามีจุดด้อยที่สื่อสารให้ภาคเอกชนเข้าใจว่าแบงก์ชาติต้องการอะไรจริงๆจากกิจกรรมภาคเอกชนได้ยาก ในขณะที่ตัวเขาเอง ณ ปี 2019 ยังไม่เคยเห็นธนาคารกลางใดในโลกที่เคยใช้แนวทาง Nominal GDP Growth Targeting มาก่อนหน้านี้เลย
ด้านจอห์น โคเครน นักวิชาการชื่อดัง ไม่ค่อยชอบแนวทาง NGDPT เนื่องจากหากระบุว่าต้องการให้อัตราการเติบโตของจีดีพีไทยที่ 5% เหมือนจะเกิดความไม่แน่นอนหรือไม่ชัดเจนว่าควรจะมาจากอัตราการเติบโตจีดีพีที่แท้จริงกี่เปอร์เซนต์ และในส่วนจากอัตราเงินเฟ้ออีกกี่เปอร์เซนต์ เพื่อจะมารวมกันเป็นอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ 5% ตามเป้าหมาย
ในขณะที่งานวิจัยจากสภายุโรปและธนาคารกลางยุโรป ได้กล่าวว่าข้อดีของการใช้อัตราการเติบโตจีดีพีเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจ หรือ NGDPT แทนอัตราเงินเฟ้อ CPI คือความผันผวนของระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีอยู่น้อยกว่าของ CPI รวมถึงยังสามารถทำการคลอบคลุมได้ทั้งในส่วนอัตราการเติบโตจีดีพีที่แท้จริงและอัตราเงินเฟ้ออีกด้วย
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ