โนอาร์ สมิทธิ์ นักเศรษฐศาสตร์และบล็อคเกอร์ชื่อดัง ได้ให้เกรดแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักต่างๆที่มาประยุกต์ใช้เป็นมาตรการของภาครัฐสำหรับการแก้วิกฤตโควิดในปี 2020 และวิกฤตเงินเฟ้อในปี 2022 โดยจะกล่าวถึงสมิทธิ์ว่าให้เกรดแต่ละแนวคิดอย่างไร และผมเห็นด้วยกับเกรดดังกล่าวหรือไม่ ด้วยสาเหตุใด ดังนี้
– แนวคิด Modern Monetary Theory (MMT): ได้เกรด F ซึ่งผมเห็นด้วย
โดยแนวคิดที่ MMT เห็นต่างจากแนวทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่เกือบทุกประเทศใช้กันอยู่ในขณะนี้ คือ แนวคิดนี้เชื่อว่าการกำหนดลำดับของการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจควรจะมีลำดับดังนี้ เริ่มต้นจากการใช้อัตราดอกเบี้ยที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจ จากนั้น จึงค่อยเลือกใช้นโยบายการคลังที่เหมาะสมตามสถานการณ์ต่างๆ ตามหน้างานในช่วงนั้น ด้วยการเพิ่มหรือลดการใช้จ่ายภาครัฐหรือปรับขึ้นหรือลดนโยบายทางภาษี
ทั้งนี้ จะว่าไป MMT ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทว่ามาจากแนวคิดที่ชื่อ Functional Finance ของแอบบา เลอร์เนอร์ เมื่อราวกว่า 60 ปีที่แล้ว ที่เริ่มจากสมมติฐานที่ว่า การที่สหรัฐมีอำนาจอิสระในการพิมพ์เงินสกุลหลักของโลก ‘อัตราเงินเฟ้อ’ จึงไม่ใช่ประเด็นหลักในการพิจารณาบริหารเศรษฐกิจ นโยบายการคลังต่างหากที่จะเป็นตัวแปรที่ทางการสหรัฐจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี สมมติฐานในการวิเคราะห์ของเลอร์เนอร์คือ เงินตราในระบบเศรษฐกิจเป็น fiat currency หรือเงินที่ไม่มีมีสินทรัพย์จริงหนุนหลัง และไม่มีการก่อหนี้ต่างประเทศ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากเศรษฐกิจอเมริกาในยุคปัจจุบัน ถือว่าสอดคล้องกับยุคนั้นมากกว่าในขณะนี้
โดยสมิทธิ์ให้เหตุผล 2 ประการ ที่ประเมินว่า MMT สอบไม่ผ่าน คือ 1. สำนัก MMT ไม่ค่อยได้เขียนงานวิชาการที่เป็นทางการในลักษณะแบบจริงจังเพื่อแสดงว่า MMT มีแนวทางที่พิสูจน์กันทางทฤษฎีเป็นเช่นไรอย่างละเอียดมีเพียงคำพูดในสังคมโซเชียลแบบหลวมๆเพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น
และ 2. ในช่วงก่อนโควิดนั้น MMT สามารถเคลมอัตราเงินเฟ้อในขณะนั้นซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการบริหารจัดการเงินเฟ้อ จึงไม่ต้องไปใส่ใจการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางให้มากนัก โดยแนะให้มุ่งไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังเป็นหลัก ซึ่งฟังดูเหมือนจะเข้าท่า อย่างไรก็ดี เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแบบรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2022 แนวคิด MMT จึงฟังไม่ขึ้นไปโดยปริยาย
ผมจึงเห็นด้วยกับสมิทธิ์ว่าควรให้เกรด F กับแนวคิด MMT
– แนวคิดการใช้เงินสกุลคริปโต้แทนดอลลาร์ เนื่องจากอาจเกิดปรากฏการณ์ Hyperinflation: ได้เกรด D
แนวคิดนี้ มีมุมมองว่าเงินสกุลดอลลาร์ รวมถึงเงินที่ไม่มีการ Back up ด้วยทองคำจะล่มสลายในที่สุดซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อแบบรุนแรงมากจากนั้นเงินสกุลคริปโต้จะมาแทนที่เงินดอลลาร์
ในส่วนนี้ ผมมองว่าน่าจะให้เกรด F ต่อแนวคิดนี้มากกว่า เนื่องจากเงินสกุลคริปโต้ค่อนข้างจะมีภาพเชิงลบพอสมควรจากพฤติกรรมด้านราคาและการเทรดในแวดวงการลงทุนสำหรับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เงินสกุลดอลลาร์ภายใต้การจัดการของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดดูได้รับเครดิตมากขึ้นนับจากช่วงวิกฤตโควิดจนถึงวันนี้
– แนวคิด Polycrisis ซึ่งอธิบายว่าเงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เกิดจากความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ (ที่จะพูดถึงในหัวข้อนี้) เป็นห่วงโซ่: ได้เกรด D
ทาง World Economic Forum ได้มองว่าเงินเฟ้อที่สูงในรอบนี้ เกิดจากปัญหาดังต่อไปนี้ที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่จนเกิดปรากฏการณ์เงินเฟ้อสูงในรอบนี้ในที่สุด
- การแตกของฟองสบู่ราคาสินทรัพย์
- วิกฤตหนี้
- วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ
- การพังทลายของห่วงโซ่อุปทาน
- ตลาดมืดของทรัพยากรต่างๆ
- การล่มสลายของรัฐ
- วิกฤตการจ้างงาน
- การกีดกร่อนของความผูกพันทางสังคมในช่วงโควิด
อย่างไรก็ดี การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกลับมาลดลงได้ค่อนข้างเร็วในช่วงกลางปี 2023 ได้ส่งผลให้แนวคิด Polycrisis ลดกระแสความนิยมอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมเห็นด้วยว่าแนวคิดนี้สมควรได้รับเกรด D
- แนวคิด Team Transitory: ได้เกรด C-
แนวคิดนี้เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2021 นำโดยพอล ครุกแมน มีมุมมองว่าสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2021 นั้น เกิดจาก Supply Chain ที่ติดขัดจากสถานการณ์โควิด ซึ่งเมื่อโควิดจางลง สถานการณ์เงินเฟ้อสูงจะคลี่คลายด้วยตัวมันเอง โดยที่ธนาคารกลางไม่ต้องไปขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเจย์ พาวเวล ประธานเฟดก็เคยอยู่ในค่ายนี้ในช่วงปี 2021 ซึ่งจบด้วยการขึ้นดอกเบี้ยกว่า 5% ของเฟดในเวลาต่อมาจนถึงวันนี้ ซึ่งผมมองว่าแนวคิดนี้ควรได้เกรด D มากกว่าเนื่องจากได้พาประธานเฟด พาวเวลหลงทางไปหลายเดือน
– แนวคิด Macro แบบ Mainstream: ได้เกรด A-
ต้องบอกว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่เรียนกันในตำราสมัยมหาวิทยาลัยก็ยังสามารถอธิบายการแก้ปัญหาเงินเฟ้อหลังโควิดในรอบนี้ได้ค่อนข้างดี โดยการที่ Output Gap หรือส่วนต่างระหว่างขนาดจีดีพีที่เกิดขึ้นจริงกับขนาดตจีดีพีที่เป็นระดับที่เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพมีค่าเป็นบวก ซึ่งเกิดจากเงินช่วยเหลือประชาชนที่แจกให้โดยรัฐบาลในช่วงโควิดในปี 2020 ถึงต้นปี 2021 ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งการแก้ปัญหาต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวควบคู่กับการทำให้นโยบายการคลังไม่ผ่อนคลายมากจนเกินไป โดยที่เรากำลังมาถึงจุดนี้ในขณะนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยว่าแนวคิดนี้สมควรได้รับเกรด A- เนื่องจากต้องหักคะแนนเล็กน้อยที่ไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่นโยบายการเงินแบบตึงตัวจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ