ไฮไลต์ Stress Test แบงก์สหรัฐ ปี 2023

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) สถาบันการเงินสหรัฐประจำปี 2023 ซึ่งจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง ผมขอนำไฮไลต์ของผลการทดสอบนี้ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน

616

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) สถาบันการเงินสหรัฐประจำปี 2023 ซึ่งจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง ผมขอนำไฮไลต์ของผลการทดสอบนี้ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน ดังนี้

ก่อนอื่น ขอเริ่มจากสถานการณ์จำลองสำหรับทำการทดสอบภาวะวิกฤต ปี 2023ในครั้งนี้ ประกอบด้วย

มาตรวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งหมด 6 ตัว: ในปี 2023 ธนาคารกลางสหรัฐได้ระบุมาตรวัดกิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐไว้ ได้แก่ อัตราการเติบโตจีดีพีสหรัฐรายปีแบบ Nominal และแบบที่แท้จริง ซึ่งตั้งตัวเลขค่าเฉลี่ยปี 2023 ที่ -8% และ -7% ตามลำดับ, อัตราการเติบโตของมูลค่ารายได้หลังหักภาษีของรายบุคคลแบบ Nominal และแบบที่แท้จริง ซึ่งตั้งตัวเลขค่าเฉลี่ยปี 2023 ที่ -3.4% และ -2.4% ตามลำดับ, อัตราเงินเฟ้อแบบ CPI สหรัฐ ซึ่งตั้งตัวเลขค่าเฉลี่ยปี 2023 ที่ 1.3% และ ระดับอัตราการว่างงานของประชาชนชาวสหรัฐที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ในปี 2023 ซึ่งตั้งตัวเลขค่าเฉลี่ยที่ 8.1%

มาตรวัดราคาสินทรัพย์และสถานภาพด้านการเงิน (Financial Conditions) ทั้ง 4 ตัว:  ประกอบด้วยดัชนีระดับราคาบ้าน ซึ่งตั้งระดับเฉลี่ยปี 2023 ไว้ที่ 213, ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งตั้งระดับเฉลี่ยปี 2023 ไว้ที่ 323, ดัชนีราคาหุ้น Dow Jones Industrial Average ซึ่งตั้งระดับเฉลี่ยปี 2023 ไว้ที่ 21,502 และความผันผวนของตลาดหุ้น ซึ่งตั้งระดับเฉลี่ยปี 2023 ไว้ที่ 65.4

ตัวแปรมหภาคในประเทศหลักของโลกภายใต้สถานการณ์วิกฤต: อัตราการเติบโตจีดีพีที่แท้จริงของภาคพื้นยูโร กลุ่มประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา ญี่ปุ่น และอังกฤษ กำหนดค่าเฉลี่ยปี 2023 สำหรับสถานการณ์วิกฤตที่ -4.3%, +1.9%, -4.7% และ -3.8% ตามลำดับ และ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของภาคพื้นยูโร กลุ่มประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา ญี่ปุ่น และอังกฤษ กำหนดค่าเฉลี่ยปี 2023 สำหรับสถานการณ์วิกฤตที่ +2.4%, -0.6%, -0.8% และ +4% ตามลำดับ

โดยผลการทดสอบในครั้งนี้ ปรากฎว่าความเสียหายรวมจากการทดสอบภาวะวิกฤตในครั้งนี้ ทั้งหมดอยู่ที่ 5.41 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าลดลงจากปี 2022 เล็กน้อย ซึ่งโดยปกติแล้ว ความเสียหายรวมมักจะอยู่ประมาณ 5-6 แสนล้านดอลลาร์ โดยในครั้งนี้ ประกอบด้วย ความเสียหายจากสินเชื่อ (loan loss) ที่ 4.24 แสนล้านดอลลาร์ (78% ของทั้งหมด) ความเสียหายเพิ่มเติมของสินเชื่อที่ลงบัญชีแบบ fair-value option ที่  1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (3% ของทั้งหมด) ความเสียหายจาก Trading Loss ที่ 9.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (17% ของทั้งหมด) ความเสียหายจาก Securities Loss ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ (1% ของทั้งหมด)

ผมมีไฮไลต์สำหรับ Stress Test แบงก์สหรัฐ ปี 2023 ดังนี้

1. โดยหากพิจารณาจากคาดการณ์ความเสียหายแยกตามประเภทสินเชื่อ จาก Stress Test ในปี 2023 เทียบกับปี 2022 จะพบว่าสินเชื่อบัตรเครดิตมี loss rate สูงขึ้น โดยเพิ่มจากร้อยละ 19 มาเป็นร้อยละ 22 และมีความเสียหายมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ สินเชื่อ mortgage มี loss rate สูงขึ้น เพิ่มจากร้อยละ 3 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 6

2. ในความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าในมิติของความเสี่ยง หากจะเลือก Winner ในการทดสอบภาวะวิกฤตครั้งนี้ ผมมองไปที่ 2 แบงก์ ได้แก่ JPMorgan Chase แบงก์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐในปัจจุบัน เนื่องจากมีรายได้ก่อนตั้งสำรอง และรายได้หลังหักภาษี สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่แบงก์ใหญ่อื่นๆมีรายได้ทั้งคู่ลดลงจากปีที่แล้วกันเกือบหมด  และ PNC  ซึ่งถือเป็น Regional Bank ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 เนื่องจากมีระดับเงินกองทุนหลังผ่านการทดสอบภาวะวิกฤตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ในขณะที่แบงก์อื่นโดยส่วนใหญ่ลดลงระดับหนึ่ง ส่วน Loser ผมขอเลือกไปที่ Goldman Sachs เนื่องจากมี loss rate ของสินเชื่อบัตรเครดิตถึง 25% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 18%

3. Loss Rate เพิ่มขึ้นในพอร์ตรายย่อยและ ทรงตัวสำหรับพอร์ต Wholesale ในการทดสอบภาวะวิกฤตครั้งนี้: โดยอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและระดับราคาบ้านที่ต่ำลง ได้ส่งผลให้คุณภาพของสินเชื่อรายย่อยในปีนี้ลดลง อย่างไรก็ดี คุณภาพของสินเชื่อแบบ Wholesale ยังคงมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับปีก่อน

และท้ายสุด ความเสียหายของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์  แม้หลังจากที่วิกฤตโควิดกลับมาดีขึ้นแล้ว ทว่าอัตราความเสียหาย loss rate  ของอาคารสำนักงานยังคงสูงอยู่ค่อนข้างมาก โดยที่ loss rate ของอาคารสำนักงานจากการทดสอบภาวะวิกฤตในปี 2023 สูงถึงราว 19% ในขณะที่ในปี 2008 หรือช่วงวิกฤตซับไพร์มสูงเพียงราว 6.3% หรือคิดเป็น 3 เท่าของในช่วงวิกฤตซับไพร์มนั่นเอง

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

Comments