พอดีว่าได้มีโอกาสอ่านงานเขียนด้านเงินเฟ้อของสตีเฟน คิงส์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจของ HSBC พบว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาแชร์กันต่อกันอีกสัปดาห์ โดยได้พูดถึงบทเรียนจากวิกฤตเงินเฟ้อในอดีตที่ผ่านมา ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายไปกระทั่งออกจะสายจนเกินแก้ ดังนี้
บทเรียนแรก: ‘ปริมาณเงิน ถือเป็น ปัจจัยผลสำคัญต่อเงินเฟ้อ…’ โดยแม้ว่าความนิยมในการใช้ปริมาณเงินเป็นอาวุธหลักของธนาคารกลางสำหรับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ จะลดลงไปมากแล้วในปัจจุบัน ทว่าทุกครั้งที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมาในเศรษฐกิจใดๆก็ตาม ปริมาณเงินในระบบจะมีผลต่อ persistence ของอัตราเงินเฟ้อ โดยหากปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีอยู่สูง การจะดึงให้ระดับอัตราเงินเฟ้อลดลงมา ส่วนใหญ่จะทำได้ยากมาก หรือที่เรียกกันว่าอัตราเงินเฟ้อมี persistence สูงนั่นเอง
บทเรียนที่สอง: ‘ทัศนคติของสาธารณชน มีอิทธิพลต่ออัตราเงินเฟ้อในระดับเท่าเทียมกับนโยบายการเงินของธนาคารกลาง’ แม้ว่าแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบ Monetarism จะเชื่อว่าความเร็วในการหมุนเวียนของเงินจะคงที่ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ทัศนคติของมวลชนที่มีต่อผู้กำหนดนโยบายการเงินมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง สมัยโรมันที่รัฐบาลค่อยๆทำการลดส่วนผสมของเงินในตัวเหรียญกษาปณ์ (debase) ที่ใช้ซื้อขายสินค้ากันในประเทศ ราคาสินค้าและบริการก็ขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่รัฐบาลทำการ debase เงินในระบบนั่นเอง
บทเรียนที่สาม: ‘ผู้ใดก็ตามที่เชื่อว่าสามารถจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างถาวร ผู้นั้นไม่ได้เหลียวดูสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์’ หากพิจารณาจากแบบจำลองทางเศรษฐกิจ ข้อสรุปจากผลลัพธ์ของงานวิจัยมักจะชี้ไปว่าด้วยอาวุธต่างๆที่มีอยู่ของธนาคารกลาง จะสามารถจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างถาวร ซึ่งสาเหตุที่สรุปแบบเช่นนั้น เนื่องจากผู้ทำวิจัยมักเลือกช่วงเวลาของการศึกษาเพื่อให้ fit กับข้อสรุปดังกล่าว ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์เงินเฟ้อสูง มักเป็นผลมาจากปัจจัยด้านการเมืองไม่น้อยกว่าจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ความเป็นอิสระของธนาคารกลางไม่ใช่สิ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อจะไม่พุ่งสูงขึ้นเสมอไป
ดังนั้นหากใครบอกว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นแค่เรื่องในอดีตอาจจะต้องไปศึกษาเรื่องราวดังกล่าวจากประวัติศาสตร์ดูอีกครั้ง
บทเรียนที่สี่: ‘รัฐบาลสามารถและมักจะกลับมาใช้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ’ ด้วยเหตุผลที่จะทำให้ได้คะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเน้นการใช้จ่ายภาครัฐ ทว่าไม่เก็บภาษีให้คลอบคลุมค่าใช้จ่ายดังกล่าว จนเกิดหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีที่สูงเกินไป ทางแก้ที่รัฐบาลหลายประเทศใช้กันในอดีตรวมถึงปัจจุบัน คือการใช้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เพื่อไปลดมูลค่าที่แท้จริงของดอกเบี้ยและเงินต้นที่รัฐบาลเป็นหนี้อยู่ให้น้อยลง ซึ่งเป็นการลดภาระการคลังของรัฐบาล โดยหากเป็นเช่นนั้น นโยบายการเงินของธนาคารกลางก็จะไม่สามารถดูมีความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชนได้
บทเรียนที่ห้า: ‘การปรับเปลี่ยนนโยบายเชิงโครงสร้างของธนาคารกลางในยุคเงินเฟ้อต่ำ ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อได้ง่ายขึ้น’ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐในช่วงก่อนโควิดที่เศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ ได้ออกนโยบายให้เน้นวัตถุประสงค์การจ้างงานให้ได้เยอะที่สุดมากขึ้นให้เท่าเทียมกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสิ่งนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงขึ้นจนใกล้แตะเลขสองหลัก ในปี 2022
บทเรียนที่หก: ‘ทันทีที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลเสียจะเกิดขึ้นแบบไม่เท่าเทียมต่อคนทุกคน’ แม้ว่าปรากฏการณ์เงินเฟ้อจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ทว่าหากเกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเวลานานๆ ผู้ที่ทำงานแบบที่ต่อรองค่าจ้างไม่ค่อยได้จะเสียประโยชน์ เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่ขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่จะได้ประโยชน์ ทว่าผู้ที่รับเงินสดแบบคงที่ อย่างเช่นผู้รับบำนาญที่มีฐานะยากจนในระบบประกันสังคมก็จะเสียประโยชน์
บทเรียนที่เจ็ด: ‘นโยบายการเงินควรจะต้องคลอบงำนโยบายการคลัง โดยรัฐบาลต้องไม่เน้นการพิมพ์เงินเพื่อเป็นแหล่งเงินในการใช้จ่ายของตนเอง’ โดยในอดีตที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจในรัฐและแคว้นต่างๆของประเทศมักจะทำการ debase สกุลเงินของตนเอง เพื่อเป็นแหล่งเงินในการใช้จ่าย โดยที่ผู้ถือครองเหรัยญและทองคำต้องเสียประโยชน์ หรือ Fiscal Dominance ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อในเวลาต่อมา ดังนั้นในยามสงบ รัฐบาลไม่ควรพิมพ์เงินเองเพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนการคลังของประเทศ จากในอดีตที่ผ่านมานั้น ระบบการใช้ทองคำในการหนุนหลังสำหรับการพิมพ์เงินเพื่อนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ป้องกันการเกิด Fiscal Dominance
บทเรียนที่แปด: ‘Rule of Thumb สำคัญกว่าความคาดหวัง’ โดยหากสามารถที่จะทำให้มวลชนมี Rule of Thumb ที่เป็นบวกต่อการจัดการอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลาง จะเวิร์กกว่าการใช้ความคาดหวังในการบริหารจัดการเงินเฟ้อเสียอีก
บทเรียนที่เก้า: ‘ธนาคารกลางมีความยากลำบากในการพิจารณาว่าปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นปัญหาเล็กน้อยหรือจะกลายเป็นวิกฤตเงินเฟ้อในอนาคต’ เนื่องจากวิวัฒนาการของปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากในปัจจุบันไปสู่ในอนาคตเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ จึงทำให้ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายในการที่จะสามารถหยั่งรู้กลไกในจังหวะถัดๆไปว่าอัตราเงินเฟ้อจะเดินทางไปต่อ และจะไปสิ้นสุดตรงไหนและไปจบแบบอย่างไร
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ท่ีมาภาพ: The Times, IMF