ที่ผ่านมา ราวๆทุก 2 ปี สหรัฐจะมีวิกฤตประเภทหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ แรงบ้างเบาบ้าง นั่นคือรัฐบาลสหรัฐก่อหนี้ไว้จนมูลค่ายอดสะสมหนี้ภาครัฐชนลิมิตของเพดานหนี้ที่ได้ตั้งเอาไว้ ผมขอตอบคำถามต่างๆที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ ดังนี้
- ทำไมไม่ตั้งระดับเพดานหนี้ไว้แบบเยอะๆประมาณว่าเผื่อไว้ใช้สัก 10 ปี ค่อยมาเพิ่มเพดานอีกที?
A. ประเด็นนี้ ทางอเมริกามองไว้ว่าหากทำเช่นนั้น จะส่งผลให้ฝั่งรัฐบาลจะมีแนวโน้มใช้งบประมาณแบบมือเติบ เนื่องจากวงเงินสูงสุดที่สามารถใช้ได้จะสูงมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อให้เกิดระบบ Check and Balance ทางสภาสหรัฐจึงมักจะตั้งเพดานหนี้ไว้ให้รัฐบาลใช้ไม่สูงเกินที่จะใช้หมดประมาณ 2-4 ปี เพื่อให้รักษาวินัยการคลังของรัฐบาล
- การขึ้นเพดานหนี้เป็นอาวุธเดียวของสหรัฐ ในการบริหารจัดการนโยบายการคลังของสหรัฐใช่หรือไม่A. ความจริงแล้ว สภาสหรัฐมีอาวุธในการต่ออายุนโยบายการคลังของรัฐบาลเมื่ระดับหนี้ภาครัฐชนเพดานหนี้ที่ตั้งเอาไว้อยู่ 3 อย่าง คือ
- การยกเลิกกฎหมายเพดานหนี้ออกไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งปกติแล้ว ระยะเวลาดังกล่าวจะไม่ให้เกิน 2-3 ปี ซึ่งอาวุธนี้ล่าสุด ใช้มาตั้งแต่กลางปี 2019 ถึงกลางปี 2021 เพื่อให้การทำงานด้านงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐยังสามารถไปต่อได้
- มาตรการ Extraordinary Measure โดยที่มาตรการนี้ อนุญาตให้กระทรวงการคลังสหรัฐสามารถไม่ต้องนำเงินไปลงทุนในกองทุนแนวธนาคารออมสินของสหรัฐ (Thrift Plan) กองทุนเกี่ยวกับบำนาญของการไปรษณีย์ และกองทุนเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประหยัดการใช้จ่ายได้ โดยช่วงไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว กระทรวงการคบังสหรัฐก็ได้ใช้มาตรการนี้เพื่อไม่ให้มูลค่าหนี้รวมของรัฐบาลสหรัฐชนเพดานหนี้
- การขึ้นระดับเพดานหนี้ ซึ่งอาวุธนี้เป็นข่าวให้เราได้ยินกันอยู่เรื่อยๆ โดยต้องได้รับการโหวตผ่านทั้ง 2 สภาและลงนามโดยประธานาธิบดีสหรัฐ– แล้ว วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐในครั้งนี้ จะรุนแรงไหม และน่าจะจบลงเมื่อไหร่?A. ผมมองว่า วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐในครั้งนี้น่าจะสามารถจบลงได้แบบสวยงาม แต่ว่าไม่ได้ราบรื่นแบบที่ไม่ต้องลุ้นของชาวโลก ที่ผมมองว่าน่าจะจบแบบสวยได้นั้น เนื่องจากในรอบนี้ ฝ่ายที่ขอเป็นผู้ขึ้นเพดานหนี้ได้แก่ พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล โดยผู้นำ โจ ไบเดน เป็นผู้ที่ออกลีลาไม่ยอมเจรจาแบบด่วนๆ ซึ่งถือว่าผิดวิสัยจากการเจรจาวิกฤตเพดานหนี้ที่ฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายเร่งขึ้นเพดานหนี้ ตรงนี้ ถือเป็นข้อดีเนื่องจากฝั่งรัฐบาลอย่างไรเสีย ก็ต้องอยากจะขึ้นเพดานหนี้อยู่แล้ว จึงน่าจะเสี่ยงน้อยที่จะจบแบบไม่สามารถขึ้นเพดานหนี้ได้
คำถาม คือ แล้วทำไมไบเดนไม่รีบนำกฎหมายขยายเพดานหนี้จากสภาล่างขึ้นมาโหวตให้ผ่านในวุฒิสภาและลงนามให้จบๆไปเลย
คำตอบคือ เงื่อนไขของฝ่ายค้านที่จะนำกฎหมายขยายเพดานหนี้ที่ผ่านสภาล่างเมื่อเดือนที่แล้ว จะให้พรรคเดโมแครตตัดลดงบประมาณที่รัฐบาลตั้งเอาไว้และผ่านเป็นกฎหมายช่วงก่อนหน้านี้ลง 14% ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งไบเดนดึงเกมไว้เพื่อต่อรองเงื่อนไขดังกล่าวกับฝ่ายค้าน
- แล้วทำไมมองว่าจะจบได้แบบไม่ราบรื่นชนิดต้องลุ้นกันของชาวโลก?
A. เนื่องจากความเก๋าและบารมีของผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายในรอบนี้ มีความห่างชั้นกันมากๆ ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่ความห่างชั้นของทั้ง 2 ฝั่ง จะแตกต่างกันขนาดนี้ โดยโจ ไบเดน ถือว่ามีความเจนจัดทางการเมืองสูงที่สุดคนหนี่งในวงการเมืองสหรัฐในขณะนี้ ด้านเควิน แม็คคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นมือใหม่ในวงการเมืองระดับชาติ โดยเป็นประธานสภาล่างคนแรกที่ต้องใช้เวลาในการโหวตเพื่อดำรงตำแหน่งนี้อยู่หลายวัน ซึ่งโดยปกติแล้ว สำหรับการเจรจาต่อรองระหว่าง 2 ฝั่งในทฤษฎีเกมนั้น การที่ 2 ฝั่งมีความห่างชั้นกันมาก จะมีโอกาสที่เกมจะจบแบบผลลัพธ์ที่ไม่สวยอยู่สูงมาก ซึ่งสถานการณ์นี้ ทำให้ผมมองว่าจบได้แต่น่าจะมีดราม่าอยู่หลายยกอยู่เหมือนกัน
- ในมุมของนักลงทุน วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐรอบนี้ น่าจะคาดหวังว่าจะสามารถจบได้ในช่วงเวลาใด?
A. ผมมองว่าโอกาสจบในวันท้ายๆของเดือนพฤษภาคมนี้ ถือว่ามีโอกาสอยู่ แต่โอกาสสูงสุดน่าจะเป็นสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน โดยหากยืดเยื้อไปถึงสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ผมมองว่าต้องตั้งการ์ดไว้สูงมากๆสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเงื่อนไขสำคัญคืออยู่ที่การอัพเดตคาดการณ์จากเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงคลังว่า วันที่กระทรวงการคลังสหรัฐจะไม่มีเงินสดเหลืออยู่จะเปลี่ยนไปจากวันที่ 1 มิถุนายนหรือไม่อย่างไร
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ