คีย์แมนเศรษฐกิจจีน หลัง สี จิ้น ผิง เป็นผู้นำวาระที่ 3

บทความนี้ จะพามาทำความรู้จักกับตัวเต็ง 3 ทหารเสือด้านเศรษฐกิจรุ่นใหม่ของจีน ว่าเป็นใครและมีนโยบายเป็นอย่างไรกันบ้าง

1031

ในช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงคุ้นเคยกับ 3 ทหารเสือทางเศรษฐกิจของสหรัฐในยุคทศวรรษ 1980 อย่างอลัน กรีนสแปน โรเบิร์ต รูบิน และ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส จนมาถึงในปัจจุบัน ก็มาถึง 3 ทหารเสือรุ่นใหม่ อย่าง เจย์ พาวเวล เจเน็ต เยลเลน และ เลอัล แบร์นาร์ด คราวนี้ หากมาพิจารณาในแวดวงของประเทศจีน อีกหนึ่งประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก ก็ปรากฎว่ามี 3 ทหารเสือเช่นกัน บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับตัวเต็ง 3 ทหารเสือรุ่นใหม่ของจีนกันบ้าง

ขอเริ่มจาก หนึ่งในตัวเต็งว่าที่สมาชิกใหม่ที่จะเข้าไปในคณะกรรมการ Standing Committee ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 7 ท่าน ได้แก่ เฉิน มิ่น เอ๋อ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองฉงชิ่ง เมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของจีน หลังจากที่ซุ่น เจิ้ง ไฉ้ อดีตผู้ว่าการเมืองฉงชิ่ง ดาวรุ่งทางการเมืองที่มีสิทธิ์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของจีนคนต่อไปถูกตั้งกรรมการสอบสวนเมื่อ 5 ปีก่อน โดย เฉิน มิ่น เอ๋อ  เคยดูแลเมืองกุ้ยโจวเป็นเวลากว่า 5 ปี ที่ว่ากันว่ามีความทุรกันดานมาก ซึ่งทั้งประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงและ หู จิ้น เทา ก็เคยดูแลเมืองนี้มาก่อน

จุดเด่นของ เฉิน มิ่น เอ๋อ  คือเป็นคนรุ่นอายุ 50 ปลายๆ ที่ผ่านงานดูแลเมืองที่ประชาชนมีความลำบากได้ค่อนข้างดี ซึ่งกลายเป็นคอร์สที่สอนให้ผู้นำจีนรุ่นต่อไป ให้เคยได้เห็นการมองความยากลำบากของประชาชนมาก่อน โดยเขาได้พัฒนาระบบการรวมศูนย์ที่ดินไว้ให้ประชาชนช่วยกันทำมากินด้านเกษตรกรรม นอกจากนี้ น่าสังเกตว่า อดีตคู่แข่งทางการเมืองเบอร์หนึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนของประธานาธิบดีสี อย่าง โป ซี ไล้ ก็เป็นผู้ว่าเมืองฉงชิ่ง แสดงถึงความสำคัญของตำแหน่งทางการเมืองของเมืองๆ นี้ ซึ่งทำให้มองได้ว่าเฉิน มิ่น เอ๋อ มีโอกาสสูงที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับเบอร์ต้นๆของจีนในอนาคต

สำหรับตัวเต็งที่จะมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แทน หลิว เฮ่อ ได้แก่ เฮ่อ หลี เฟิง คนสนิทเก่าแก่ของสี จิ้น ผิง ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยยุคทศวรรษ 1980 ที่ผู้นำจีนเคยดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเมืองเซี๊ยะเหมิน ซึ่ง เฮ่อ หลี เฟิง เป็นชาวเซี๊ยะเหมินโดยกำเนิดให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทำให้หลังจากสี จิ้น ผิง ขึ้นมาเป็นผู้นำของจีนในปี 2012 จึงชักชวนให้เขามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาการและการปฏิรูปเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยมีหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจจีน รวมถึงผลักดันโครงการ Belt and Road ในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศและประเทศพันธมิตรต่างๆ

โดยแม้ว่า เฮ่อ หลี เฟิง จะจบด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ ทว่าจุดเด่นของเขา คือการเป็นนักปฏิบัติ โดยสามารถผลักดันให้งานเดินได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางระบบราชการจีนที่ไม่ได้คล่องตัวมากและมีคอร์รัปชั่นอยู่ในหลายภาคส่วน  รวมถึงเขายังชอบผลักดันให้โครงการใหญ่ต่างๆออกมาเป็นรูปธรรมมากกว่าการวางแผนภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยที่ชอบเน้นให้เกิดการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากเข้าไว้ ซึ่งถือว่าต่างจากสไตล์ของ หลิว เฮ่อ ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นคนที่เข้าใจในปรัชญาการบริการเศรษฐกิจที่เน้นความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมจีนของ สี จิ้น ผิง เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ที่จะมาดำรงต่อจาก อี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ซึ่งจุดเด่นของเขาคือการศึกษาที่ถือว่าตรงสายกับตำแหน่งนี้ เหมือนกับเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ มากๆ โดยจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมาหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในสหรัฐ และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ก่อนร่วมงานกับแบงก์ชาติจีนเมื่อปี 1997 ดำรงตำแหน่งตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการเมื่อปี 2008 มีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงินและพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษา โดยเมื่อปี 2015 เขาได้เปลี่ยนสูตรการคำนวณเงินหยวนของจีนให้มีความคล่องตัวในการขึ้นลงมากยิ่งขึ้น

หากอี้ กังได้ต่ออายุให้เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติจีนต่ออีกสมัยขึ้นมา เหมือนกับ โจว เซี่ยว ฉวน ผู้ว่าฯท่านก่อน  น่าจะถือว่าเป็นข่าวดีของโลกตะวันตกเนื่องจากจะได้มีความต่อเนื่องในการบริหารนโยบายการเงิน

สำหรับตัวเต็งที่จะมาเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติจีนท่านต่อไปมีอยู่หลายท่าน ในมุมมองของผม น่าจะเป็นม้ามืดอย่าง เจียงฉาวเหลียง อดีตเลขามณฑลหูเป่ย โดยเขาเคยบริหาร China Development bank ซึ่งเป็นแบงก์รัฐที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 แห่งของจีน โดยนับตั้งแต่ปี 2014 หลังสี จิ้น ผิง ขึ้นเป็นผู้นำของจีนเขาได้เลื่อนตำแหน่งมา 3 ครั้งแล้ว

โดยผลงานเด่นๆของเขาคือการเคลียร์การล้มละลายของ Guangdong International Trust and Investment Corporation หรือ GITIC เมื่อปี 1999 โดยในครั้งนั้น เขาร่วมกับหวัง ฉี ซาน ในการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งของจีนและต่างประเทศของ GITIC ก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นหัวหน้าธนาคารกลางของจีนสาขาเซินเจิ้น ซึ่งมีความสำคัญมากในยุค 90

หาก เจียงฉาวเหลียง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางจีนจริงๆ โลกการเงินตะวันตกน่าจะมีหนาวเนื่องจากฮาร์ดคอร์กว่าอี้ กังในการดำเนินนโยบายการเงิน คือทำอะไรก็ตาม จะมองจากมุมผลประโยชน์ของจีนเป็นหลัก

ภาพของผู้นำจีนในตำแหน่งสำคัญๆ น่าจะมีความชัดเจนขึ้นหลังสิ้นสุดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ที่มาภาพ: Nikkei Asia และ China Daily

 

 

Comments