ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ครึ่งหลังปี 2022

ความเสี่ยงหรือสมมติฐานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งหากผลลัพธ์ออกมาไม่ดีหรือสมมติฐานไม่เป็นไปตามที่คาดแล้ว จะถือเป็นความเสี่ยงแบบรุนแรงมากหรือ Tail Risk ในครึ่งหลังปี 2022 ผมมองว่ามีดังต่อไปนี้

1403

ถ้าจะให้ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจ ครึ่งหลังปี 2022 ผมมองว่ามีความเสี่ยงหรือสมมติฐานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอยู่ 5 ข้อ ซึ่งหากผลลัพธ์ออกมาไม่ดีหรือสมมติฐานไม่เป็นไปตามที่คาดแล้ว จะถือเป็นความเสี่ยงแบบรุนแรงมากหรือ Tail Risk ที่ล่าสุดเราได้ประสบกับโรคระบาดโควิด-19

ทั้งนี้ ความเสี่ยงหรือสมมติฐานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าว ประกอบด้วย

1. สมมติฐาน ของ เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด: ที่ว่า ณ ปัจจุบัน ตลาดแรงงานของสหรัฐอยู่ในสภาวะไม่ปกติ โดยในตอนนี้ สัดส่วนระหว่างตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้หางาน เท่ากับ 2 นั่นหมายความว่าเกิดการไม่สมดุล (mismatch) ระหว่างอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราว่างงานน้อยมาก เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้ลดปริมาณงานที่ว่าจ้างจริงในตลาด เนื่องจากตำแหน่งงานที่ลดลงจากการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงด้วยจำนวนมากพอที่จะทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีสหรัฐลดลงไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี หากตลาดแรงงานสหรัฐไม่ได้เป็นดังที่พาวเวลคาดการณ์ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีสหรัฐก็จะลดลงมากกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้มาก

2. ตลาดพันธบัตรหรือบอนด์ของยุโรป: หลังการประชุมธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีครั้งล่าสุด จนต้องจัดประชุมแบบฉุกเฉินในอีก 10 วันต่อมา จากการเกิดปรากฏการณ์ที่ระดับผลตอบแทนหรือยิลด์ของประเทศที่มีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจและอ่อนแอทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ หรือ fragmentation

โดยยิลด์ของบอนด์เยอรมันอายุ 10 ปี ในตอนนี้ อยู่ที่ 1.6% ในขณะที่ยิลด์ของบอนด์อิตาลีอายุ 10 ปี ในตอนนี้ อยู่สูงกว่า 4% ซึ่งหากยิลด์ยังแตกต่างกันขนาดนี้ โดยใช้ค่าเงินภายใต้สกุลยูโรเดียวกัน ตรงนี้ เราจะเห็นการเก็งกำไรของบรรดาเฮดจ์ฟันด์ต่อบอนด์ในประเทศต่างๆของยุโรป ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตเสถียรภาพด้านการเงินทั้งในตลาดเงิน ตลาดบอนด์ ตลาดหุ้น และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในยุโรป และยิ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและเสี่ยงต่อเศรษฐกิจถดถอยมากยิ่งขึ้น

  1. การปรับท่าทีของ สี จิ้น ผิง ผู้นำของจีน: จะมีนโยบายที่ส่งผลเซอร์ไพร์สเชิงบวกหรือเชิงลบต่อภาคธุรกิจก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งที่มีความสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งผู้นำจีนแบบไม่มีระยะเวลาลิมิต

โดยมีความเป็นไปได้ที่ผู้นำจีนจะดำเนินนโยบายในเชิงที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจและตลาดหุ้นจีน เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวทางการปกครองประเทศแบบที่จีนใช้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศตะวันตกที่กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้ออยู่ ทว่าก็ไม่อาจตัดความเป็นไปได้แม้จะมีอยู่ไม่สูง ที่ว่ารัฐบาลจีนอาจจะอยากจะแสดงถึงอำนาจที่มีเหนือต่อบริษัทเอกชนของจีนด้วยการออกมาตรการที่เน้นการควบคุมธุรกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นจีน

4. ผลกระทบจากมาตรการลดขนาดงบดุลของเฟด หรือ QT ต่อตลาดบอนด์สหรัฐ: ผมมองว่าพาเวลและทีมงานของเฟด กำลังพยายามศึกษาผลกระทบข้างเคียงจากมาตรการ QT ต่อตลาดบอนด์และเศรษฐกิจสหรัฐว่ามีมากน้อยเพียงใด จากช่วงเวลาที่อัตราเร็วในการลดขนาดงบดุลยังไม่เร็วมากสำหรับช่วง 6 เดือนแรกนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยความเสี่ยงที่มาจาก QT ผมมองว่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี เมื่อเฟดเร่งอัตราเร็วในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่าจากระดับปัจจุบัน โดยผลข้างเคียงนั้น ยากที่จะประเมินในตอนนี้ เนื่องจากเป็นการลดขนาดงบดุลของเฟดแบบจริงจัง มิใช่เพียงแค่ให้พันธบัตรหมดอายุไป (Run off) เป็นครั้งแรก ซึ่งถึงตรงนี้ ผมมองว่าในบรรดา 5 ความเสี่ยงนี้ QT ดูน่ากังวลมากที่สุด

5. เซอร์ไพร์สจากอีซีบีที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในครั้งใดครั้งหนึ่งสำหรับการประชุมนโยบายการเงินจากเดือนหน้าจนถึงสิ้นปีนี้ หากอัตราเงินเฟ้อยุโรปไม่เข้า สู่จุดสูงสุดในช่วงปลายไตรมาสสามของปีนี้ โดยในบรรดา 5 ความเสี่ยงที่กล่าวถึง ผมมองว่าผลของความเสี่ยงนี้ น่าจะเบาที่สุดครับ

ที่มาภาพ: AWS

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

Comments