ในความเห็นของผม ณ นาทีนี้ ธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระจากการเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้แก่ ธนาคารกลางอังกฤษ โดยนับจากปี 1997 ที่กอร์ดอน บราวน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคแรงงาน ในขณะนั้น ประชุมร่วมกับเอดดี้ จอร์จ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ในตอนนั้น ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาที่ร้อยละ 6.25 ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายที่เป็นการประชุมร่วมกัน เพราะนับจากครั้งนั้น ธนาคารกลางอังกฤษ ภายใต้กฏหมายฉบับใหม่ ก็มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินโดยไม่ต้องรายงาน หรือขึ้นตรงต่อหน่วยงานภายนอกใดๆ โดยไม่ต้องมาเอาใจต่อรัฐบาลที่เน้นการผ่อนคลายนโยบายการคลังแต่อย่างใด
ด้วยธรรมชาติที่มีความเป็นธนาคารกลางซึ่งมีความเป็นอิสระสูงมาก แบงก์ชาติอังกฤษในระยะเวลา 20 ปีต่อมา จึงสามารถดึงดูดบุคลากรระดับโลกอย่างมาร์ค คาร์นีย์ และ เซอร์ เมอร์วีน คิง ให้มาทำหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษเป็นเวลาหลายปี หลังจากนั้นเป็นต้นมา
แล้วความเป็นอิสระของธนาคารกลางอังกฤษก็ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนมากที่สุด ในวันนี้ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการประกาศว่าเศรษฐกิจอังกฤษ จะมีอัตราเงินเฟ้อแบบตัวเลขสองหลัก (จากราคาพลังงานที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มร้อยละ 40 กว่าปีก่อน) และ มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจแบบติดลบ ในช่วงปลายปีนี้ อีกทั้งในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2023 ขนาดของเศรษฐกิจอังกฤษยังจะหดตัวลดลงจากในช่วงนี้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษจะหมดอายุในช่วงนั้น
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอังกฤษเท่านั้นที่จะสามารถหยุดปัญหาเงินเฟ้อในอังกฤษที่จะรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆนับต่อจากนี้
โดยหากเป็นแบงก์ชาติที่ไม่มีความเป็นอิสระจริงๆ อย่างแบงก์ชาติอังกฤษ คงน่าจะไม่มีความกล้าหาญมากพอที่จะยอมพูดแบบตรงๆในเชิงลบต่อเศรษฐกิจของตนเองได้แบบจริงใจถึงขนาดนี้
ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติอังกฤษยังสะท้อนให้เห็นจากการที่แอนดริว ไบร์ลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ เมื่อตอนต้นปีนี้ ได้ออกมาขอร้องผ่านสื่อมวลชนว่าให้ผู้ใช้แรงงานชาวอังกฤษอย่าเพิ่งเรียกร้องขึ้นค่าจ้างในช่วงนี้ เพื่อสกัดตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งปรากฎว่าเขาถูกถล่มแบบทัวร์ลงอย่างไม่ยั้งจากสื่อมวลชน หาว่ามีความเห็นเข้าข้างฝ่ายนายจ้างและเอื้อต่อคนในชนชั้นสูงภายใต้ระบบทุนนิยมจนไบร์ลีย์ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการถอนความเห็นนั้นต่อสาธารณชนในเวลาต่อมา
ที่มากไปกว่านั้น ธนาคารกลางอังกฤษยังกล่าวในแถลงการณ์นโยบายการเงินแบบตีแสกหน้ารัฐบาลของบอริส จอห์นสัน ว่าเหตุการณ์ Brexit เมื่อ 5 ปีก่อน ได้มีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ นอกจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนซึ่งได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจอังกฤษ ก็ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงและราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากเช่นกัน
ธนาคารกลางอังกฤษชี้ว่าสาเหตุหลักที่ส่งถึงชะตากรรมของเศรษฐกิจอังกฤษให้เป็นเช่นในวันนี้ คือ ราคาพลังงานและราคาก๊าซที่พุ่งสูงแบบรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนหลักจากรัสเซียบุกยูเครน ราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นจากภาวะอุปทานติดขัด (supply chain disruption) รวมถึงอัตราการเติบโตของระดับผลิตภาพของอังกฤษที่ต่ำกว่าในอดีตมาพักใหญ่แล้ว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก
นอกจากนี้ ในปีนี้และปีหน้า ชาวอังกฤษจะมีคุณภาพชีวิตด้านค่าครองชีพที่แย่ลง ด้วยระดับรายได้ที่แท้จริงต้องลดลง ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขยับสูงขึ้นแบบรุนแรงมาก และ อัตราการออมของประชาชนต้องลดลง ซึ่งไม่ต้องดูอื่นไกล ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นชาวอังกฤษยกเลิกบริการด้านสตรีมมิ่งชื่อดังด้วยจำนวนรายที่ยกเลิกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งมีหน่วยงานวิจัยบางแห่งรายงานว่า มีชาวอังกฤษถึง 2 ล้านคนอาจต้องลดปริมาณอาหารที่บริโภคในแต่ละมื้อเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษกล่าวว่าในช่วงต่อไป จะพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป อย่างไรก็ดี จะกระทำแบบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากทราบดีว่าจะส่งผลเชิงลบต่อความเป็นอยู่ของชาวอังกฤษทั่วประเทศ
โดยในภาพรวม หลังการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ ได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของพันธบัตรอังกฤษลดลงเล็กน้อย รวมถึงค่าเงินปอนด์อ่อนลงจากในช่วงก่อนหน้านี้ โดยในอนาคต คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษน่าจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่านี้ เนื่องจากการประกาศภาพอนาคตเศรษฐกิจในรอบนี้ เพื่อหวังให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจอังกฤษให้เตรียมและเผื่อใจการปรับตัวกับพายุเศรษฐกิจลูกนี้ที่ดูหนักหน่วงเอาการ
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ