นอกจากรัสเซียบุกยูเครน ปัจจัยอันดับหนึ่งต่อการลงทุนในปีนี้ ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สร้างความแปลกใจให้กับทุกคนสำหรับวิกฤตโควิดในรอบนี้ คือ ทำไมเมื่อเฟดดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ในช่วงโควิดที่ผ่านมา แล้วปรากฏว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ในวิกฤตซับไพร์มครั้งที่แล้วเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่เป็นเช่นนี้?
บทความนี้ จะขอแชร์มุมมองของปรากฏการณ์ดังกล่าว ดังนี้
หนึ่ง เม็ดเงินที่ช่วยเหลือโควิดรอบนี้ อนุมัติอย่างรวดเร็วและยิงตรงไปสู่ ประชาชนทั่วไป รวมถึงอยู่ในรูปแบบของการพิมพ์เงินจากเฟด ในขณะที่แพ็คเกจเงินช่วยเหลือในวิกฤตซับไพร์มปี 2008 มาจากในรูปของการกู้ และค่อยๆแจกจ่ายไปถึงมือประชาชน
รูปที่ 1 องค์ประกอบของปริมาณเงินและมูลค่าหนี้ภาครัฐของสหรัฐ
ที่มา: FED และ CBO
หากพิจารณาในมิติองค์ประกอบของปริมาณเงิน ปี 2008 ส่วนใหญ่จะมาจากการทำ QE ที่เปลี่ยนรูปแบบจากพันธบัตรรัฐบาลมาเป็น เงินสำรองในงบดุลของสถาบันการเงิน โดยที่ M2 ซึ่งหมายถึงเงินสด นอกสถาบันการเงินและบัญชีเงินฝากทุกรูปแบบ ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่นัก แม้หนี้ภาครัฐและฐานเงินซึ่งประกอบด้วยเงินในระบบและเงินสำรอง จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนในปี 2022 จะพบว่า ทั้งหนี้ภาครัฐ ฐานเงินและปริมาณ M2 สูงขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกันทั้งหมด ดังรูปที่ 1
ซึ่งในทางปฏิบัติ การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน M2 มีผลต่อระดับราคาของสินค้าและบริการมากกว่าปริมาณฐานเงิน ซึ่งเกิดจาก การยิงตรงของเม็ดเงินสู่ประชาชนอย่างรวดเร็วของทางการสหรัฐนั่นเอง
สอง ห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply Chain ของการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี ในปัจจุบัน จะพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในโลก อย่างซับซ้อนและแนบแน่นกว่ามากกว่าเมื่อปี 2008 ดังนั้น เมื่อเกิดการสะดุด ของการผลิตหรือการขนส่งในขั้นตอนใด จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดสะดุด ขึ้นมาทั้งระบบ และส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่เป็นระยะยาวนานกว่า ในอดีตเป็นอย่างมาก
รูปที่ 2 อัตราส่วนระหว่างมูลค่าหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีของสหรัฐระกว่างปี 1992 ถึง ปี 2021
ที่มา: เฟด สาขาเซนหลุยส์
สาม หนี้ภาครัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ สูงกว่าในช่วงซับไพร์มมาก จากรูปที่ 2 จะพบว่าอัตราส่วนระหว่าง มูลค่าหนี้ภาครัฐต่อจีดีพี ของสหรัฐในปัจจุบันสูงเป็นเกือบ 2 เท่าของ อัตราส่วนเมื่อปี 2008 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐดังกล่าว บางส่วนอยู่ในรูปแบบของเงินให้เปล่าต่อประชาชน ซึ่งในช่วงที่โควิดซาลงดังเช่นช่วงปลายปี 2021 ประชาชนสหรัฐได้นำเงินดังกล่าว มาจับจ่ายใช้สอยในบางส่วนหลังเปิดเมือง ซึ่งก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ทว่าในช่วงวิกฤตซับไพร์ม ไม่มีการให้เงินต่อประชาชนแบบให้เปล่า ด้วยปริมาณมากขนาดที่เห็นในส่วนนี้
สี่ สำหรับช่วงวิกฤตโควิด ในภาพรวมแล้ว ประชาชนเหมือนติดอยู่ในบ้าน ท่ามกลางพายุหิมะ ไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตและประกอบอาชีพ ในแบบภาวะปกติ ส่วนวิกฤตซับไพร์ม ประชาชนชาวสหรัฐสูญเสียเงินลงทุน จากตราสารซับไพร์ม ที่ส่งผลแบบโดมิโนต่อตราสารการลงทุนของ แบงก์ต่างๆในสหรัฐ เนื่องจากเกิดวิกฤตแบงก์ในสหรัฐ โดยรวมแล้วในปี 2008 เสมือนว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง
โดยในปี 2022 เศรษฐกิจสหรัฐเป็นส่วนผสมของการถูกกระทบกระเทือน จากแรงกระแทกด้านอุปทาน ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจต้องทำงานภายใต้ระดับอุปทาน ที่หายไปบางส่วน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นปัญหาหลักของวิกฤตโควิดในรอบนี้
ในขณะที่อุปสงค์ได้รับการเติมอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและเฟด ซึ่งในส่วนนี้ ทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในขณะนี้
ท้ายสุด การที่รัฐบาลสหรัฐก่อหนี้ภาครัฐไว้ในรอบนี้ จนอัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีสูงถึงมากกว่า 1 เท่า ย่อมส่งผลให้ประชาชนอาจจะมีความกังวลว่ารัฐบาลอาจจะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ในอนาคต โดยสังเกตจากการขึ้นภาษีของรัฐ ที่ดูแล้วไม่น่าจะสามารถคลอบคลุมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นจากมูลค่าหนี้ที่ก่อไว้เป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องอาศัยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำการลดมูลค่าหนี้รัฐบาลที่แท้จริงโดยรวมในบางส่วนออกไป จึงส่งผลให้ประชาชนเร่งใช้จ่ายเพื่อเกรงว่ากำลังซื้อของตนเองจะลดลงในอนาคต จนทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากอุปสงค์ที่ก่อตัวขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ