เจย์ พาวเวล เผลอให้ ‘เงินเฟ้อ’ พุ่ง เพราะ…

เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐให้การต่อสภาคองเกรสว่า ช่วงเวลาของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินของเฟดได้ผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยของแบงก์ดังบางแห่งในสหรัฐ ยังขยับจำนวนครั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ มาเป็น 4 ครั้ง บทความนี้ จะกล่าวถึงว่าเพราะเหตุใดพาวเวลถึงเผลอให้ ‘อัตราเงินเฟ้อ’ พุ่งขึ้นมาแบบรุนแรงมาก

1603

ข่าวดังประจำสัปดาห์นี้ เห็นจะไม่พ้นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พุ่งขึ้นมาสู่ระดับ 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐ ซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานหรือ Core CPI ขึ้นมาเป็น 5.5%

หลังจากที่เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดให้การต่อคณะกรรมการสถาบันการเงิน สภาคองเกรส เพื่อการรับรองการเข้ารับตำแหน่งเป็นวาระที่สอง ว่าช่วงเวลาของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินของเฟดได้ผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยของแบงก์ดังบางแห่งในสหรัฐ ยังขยับจำนวนครั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ มาเป็น 4 ครั้ง

 คำถามคือเพราะเหตุใดพาวเวลถึงเผลอให้ ‘อัตราเงินเฟ้อ’ พุ่งขึ้นมาแบบรุนแรงมาก โดยบทความนี้ จะขอให้ความเห็นถึงเหตุผลต่างๆ ดังนี้

1.‘พาวเวลดูเหมือนจะไม่ศรัทธาในเส้นโค้งฟิลลิปส์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานซึ่งมีความผกผันกัน ว่าความร้อนแรงของเศรษฐกิจอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของภาวะเงินเฟ้อที่จะร้อนแรงขึ้นแบบต่อเนื่อง เลยอาจจะมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำนานจนเกินไป

ด้วยความที่นายพาวเวลไม่ได้เรียนจบมาทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง มีข้อดีคือ open-minded แต่มี ข้อเสีย คือเมื่อเรียนรู้ในช่วงเป็นผู้ใหญ่จะใช้วิจารณญาณในการเลือกเชื่อแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแนวคิดเส้นโค้งฟิลลิปส์ที่เป็นหนึ่งในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ขัดแย้งกับวิจารณญาณของคนทั่วไป ซึ่งจากการตอบคำถามกับกรรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐ เมื่อ 2 ปีก่อน ผมมองว่าพาวเวลดูจะเป็นเช่นนั้นเสียด้วย

ยิ่งผมได้อ่านงานวิจัยของนักวิชาการชื่อดังล่าสุด จะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว เส้นโค้งฟิลลิปส์ยังคงสามารถอธิบายเศรษฐกิจในโลกแห่งความจริงได้อยู่ไม่น้อย หากว่าได้ปรับมุมมองบางอย่างในตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ยิ่งทำให้ความเชื่อของพาวเวลดูเป็นจุดด้อยมากขึ้น

โดยการที่พาวเวลไม่มองว่า เส้นโค้งฟิลลิปส์ที่จะส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะร้อนแรงจนส่งผลให้ภาวะอัตราเงินเฟ้อที่จะร้อนแรงขึ้นแบบต่อเนื่อง อาจจะทำให้เฟดยังคงทำ QE และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำนานเกินไป จนเศรษฐกิจเกิดร้อนแรงเกินไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

  1. เฟดได้เปลี่ยนจากวัตถุประสงค์ที่บริหารจัดการเศรษฐกิจเพื่อให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่เหมาะสม มาเป็นการทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด โดยพาวเวลได้ใช้คำว่าเพื่อให้มีการจ้างงานที่สูงสุดเมื่อปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากความไม่เชื่อเส้นโค้งฟิลลิปส์ของพาวเวล

ผมคิดว่าพาวเวลน่าจะเป็นประธานเฟดท่านแรกในประวัติศาสตร์ของเฟดที่มีมาเกือบ 100 ปี ที่กล้าพูดแบบแมนๆเช่นนี้ รวมถึงน่าจะเป็นนายธนาคารกลางของประเทศหลักในโลกเพียงท่านเดียว ณ ตอนนี้ ที่กล้าพูดเช่นนี้เช่นเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า พาวเวลเชื่อว่าเส้นโค้งฟิลลิปส์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานซึ่งมีความผกผันกัน ได้หมดไปจากโลกนี้ไปแล้ว

  1. เฟดเปลี่ยนแนวทางการประเมินอัตราเงินเป้าหมาย โดยหันมาใช้ระดับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยแทนระดับอัตราเงินเฟ้อ ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง เป็นตัวเปรียบเทียบกับเป้าหมายร้อยละ 2 ตรงนี้ ทำให้เฟดยิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ยากขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะอัตราเงินเฟ้อเดิมต่ำมากๆมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ตรงนี้ ถือว่าจุดที่พาวเวลนำแนวคิดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยมาใช้ในปีที่แล้วนั้น น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผิดพลาดก็น่าจะว่าได้

ซึ่งพาวเวลเน้นว่าไม่ใช่ว่าจะนำมาคิดคำนวณแบบคณิตศาสตร์เป๊ะๆ แต่ว่าจะใช้วิจารณญาณในการประเมิน ตรงนี้ เฟดถือว่าก็สามารถที่จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแม้ระดับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะเกินร้อยละ 2 ก็ตามที ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กล่าวได้ว่า พาวเวลน่าจะเป็นประธานเฟดท่านแรกในประวัติศาสตร์เฟดยุคใหม่ รวมถึงน่าจะเป็นนายธนาคารกลางของประเทศหลักในโลกที่กล้าหันมาใช้รูปแบบอัตราเงินเฟ้อในลักษณะเช่นนี้ โดย ณ ปี 2022 สิ่งนี้ทำให้เฟดภายใต้พาวเวลเหมือนจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงขึ้นกว่าเดิมไปบางส่วนเสียแล้ว

  1. พาวเวลไม่เชื่อหรือศรัทธาแนวคิดอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ ที่ผมมองว่าพาวเวลมีความคิดเช่นนั้นในเรื่องนี้ เนื่องจากเขามีการพูดถึงข้อด้อยสำหรับวิธีการที่ใช้สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของอดีตประธานเฟด ในยุคพอล โวลค์เกอร์ และอลัน กรีนสแปน ว่ามีจุดด้อยอย่างไร ในงานแจ็คสัน โฮล เมื่อกว่า 3 ปีก่อนว่า ยุคของโวลค์เกอร์นั้น เน้นให้เฟดมุ่งดำเนินนโยบายให้อัตราการว่างงานของสหรัฐใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ และให้อัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบไม่พิจารณาบริบทอื่นๆ ซึ่งล่าสุด เพิ่งมารู้ว่าอัตราการว่างงานตามธรรมชาติในยุคนั้นหรือแม้แต่ในยุคนี้ อาจจะไม่ใช่อัตราที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจก็เป็นได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าหากมองย้อนหลัง นักเศรษฐศาสตร์ในยุคนั้นเชื่อหรือศรัทธาแนวคิดอัตราการว่างงานตามธรรมชาติมากจนเกินไป

อย่างไรก็ดี ณ ปี 2022 ผมมองว่าพาวเวลนับเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนมุมมองว่าตัวแปรใดจะมีผลต่อทิศทางเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกที่จะใช้โหมดการใช้นโยบายการเงินแบบใดที่มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานตรงตามกรอบเป้าหมาย น่าจะทำให้การนำเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่จุดที่มีเงินเฟ้อชะลอตัวลงของพาเวลเป็นเรื่องที่น่าจะใช้เวลาไม่นานมากจนเกินไป ทว่าอาจจะมาด้วยต้นทุนที่ไม่ต่ำมาก

โดยจากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นสิ่งที่ผมเคยเตือนว่าพาวเวลอาจจะนำเฟดไปสู่ยุคที่เสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าหากจะพูดให้แฟร์แล้ว การที่เศรษฐกิจสหรัฐสามารถรอดพ้นและฟื้นตัวของจากวิกฤตในรอบนี้ได้แบบค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนหลักๆมาจากฝีมือของพาวเวลและทีมงานเฟดก็ตามที

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

Comments