กองทุนหุ้นจีนใด… พอจะรอดจาก Sell-off รอบนี้

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราคงได้เห็นรัฐบาลจีนภายใต้การนำของสี จิ้น ผิง ค่อนข้างที่จะเล่นบทแข็งกร้าวกับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนเอง

1695

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราคงได้เห็นรัฐบาลจีนภายใต้การนำของสี จิ้น ผิง ค่อนข้างที่จะเล่นบทแข็งกร้าวกับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนเอง

เริ่มจากการระงับการออกขายหุ้น Ant Financial ที่ตลาดฮ่องกง ด้วยเหตุผลที่คาดกันว่า แจ็ค หม่า ของ Alibaba ไปวิจารณ์การทำงานของทางการในประเด็นการกำกับสถาบันการเงินภาคเอกชนจีนว่าไม่ทันสมัย ในงานสัมมนาที่มีผู้ใหญ่ของรัฐบาลจีนร่วมเป็นวิทยากรด้วย จากนั้น  รัฐบาลจีนก็ดำเนินนโยบายที่ถือว่าพยายามจะลดการผูกขาดของบรรดาธุรกิจบริษัทเทคโนโลยีจีนขนาดใหญ่ ไล่มาตั้งแต่

Meituan Danping ธุรกิจ Food Delivery อันดับหนึ่งของจีน ที่รัฐบาลจีนขอให้เลิกการบังคับให้บรรดา rider เลือกใช้บริการ Meituan เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น รวมถึงให้เปิดเผยข้อมูลอื่นๆที่เหมือนจะเปิดทางให้ตนเองได้เปรียบเหนือคู่แข่งจนกลายเป็นพฤติกรรมเหมือนธุรกิจผูกขาด

รายต่อมา Tencent นั้น เมื่อ 2-3 ปีก่อน ทางการจีนได้จำกัดชั่วโมงการเล่นเกมของเด็กๆชาวจีนที่ติดเกมของ Tencent กันอย่างงอมแงม นอกจากนี้ ล่าสุด ทางการจีนก็ได้สั่งให้ Tencent ไม่สามารถมีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในลิขสิทธิ์เพลงของ Tencent Music รวมถึงยังได้ห้ามมิให้ Tencent ทำการควบรวมกิจการด้าน Video game streaming กับ 2 ยักษ์ใหญ่ Huya และ DouYu ในวงการ ด้วยเหตุผลด้าน Antitrust

และ ล่าสุด ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่อย่าง Didi ที่เคยสกัด Uber ไม่ให้สามารถมาเป็นขาใหญ่ในธุรกิจ ride-hailing ในจีน ได้ออกไปทำ IPO หุ้นที่ตลาดนิวยอร์ค เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ทว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศทันควันว่า Didi ทำผิดกฎของรัฐบาลจีนที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เก็บได้จากลูกค้าให้กับทางการ ตามที่เคยร้องขอไป จึงได้สั่งปรับและสั่งให้ถอดแอพพลิเคชั่น Didi ออกจาก App store ในประเทศจีน

จนกระทั่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทางการจีนมีนโยบายที่ต้องการให้ธุรกิจติวเตอร์ทั้งหมดในจีน เปลี่ยนมาเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อที่จะช่วยครอบครัวคนจีนทั่วประเทศให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ รวมถึงไม่สร้างความกดดันให้กับเยาวชนจีนเรียนหนังสือเกินเวลาและหันมาทำกิจกรรมต่างๆให้มากขึ้น ส่งผลให้หุ้นธุรกิจติวเตอร์จีนที่ใหญ่ที่สุดอย่าง TAL มีราคาลดลงกว่าร้อยละ 80 ภายใน 2 วันนับจากประกาศดังกล่าว

คำถามตอนนี้ คือ กองทุนหุ้นจีนในบ้านเราตอนนี้ ราคาลดลงมากน้อยแค่ไหน มีกองทุนไหนที่ลดลงน้อยกว่าเพื่อนบ้าง?

หากเริ่มจากกองทุนต้นทาง (Feeder Fund) ว่ากองทุนต่างประเทศใด ที่บลจ. บ้านเราไปซื้อมาเพื่อนำมาขายให้ชาวไทย ที่ซื้อกันเยอะที่สุด ปรากฏว่า มีอยู่ 2 กอง ได้แก่ กองทุน Allianz A Share Opportunities Fund ซึ่งมีกองทุน B-ChinaA, KT-Ashares และ MchinaGA ของบ้านเรา ใช้เป็นกองทุนต้นทาง และ  กองทุน  UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity ซึ่งมีกองทุน  TMBCOF ของบ้านเรา ใช้เป็นกองทุนต้นทาง นอกจากนี้ ยังมี กองทุน FSSA Greater China Fund ซึ่งมีกอง KF-HCHINAD ของบ้านเรา ใช้เป็นกองทุนต้นทาง

ลองมาดูกันว่า กองไหนจะเด่นกว่ากันในยามหุ้นจีนอยู่ในช่วงขาลงแรง แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ต้องลองไปส่องดูว่าดัชนีหุ้นจีนที่ใช้อ้างอิงกันบ่อยๆ ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา (ถึง 27 กรกฎาคม 2021) เป็นอย่างไรบ้าง? ปรากฏว่า ดัชนีหุ้นจีนอย่าง H-Share ลดลงราวร้อยละ 10 ส่วนดัชนีหุ้น CSI300 ที่วัดตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้โดยรวมนั้น ปรากฏว่าลดลงราวร้อยลง 8  ส่วนดัชนีหุ้นจีน A50 ปรากฏว่าลดลงร้อยลง  9

ขอเริ่มจากกองทุน Allianz A Share Opportunities Fund กันก่อน ปรากฏว่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา (ถึง 27 กรกฎาคม 2021) ลดลงราวร้อยละ  9 ซึ่งถือว่าไม่เลวทีเดียว เนื่องจากกองทุนหุ้นขนาดใหญ่โดยทั่วไป มักจะเลือกหุ้นที่ค่อนข้างเด่น ซึ่งมีโอกาสจะไปเลือกเอาหุ้นที่ถูกผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลจีนอยู่ไม่น้อย ทว่ากองทุนนี้ถือหุ้นเซกเตอร์ Industrial ค่อนข้างเยอะ โดยที่เซกเตอร์นี้ ถึงตรงนี้ ไม่ค่อยโดนผลกระทบจากรัฐบาลจีนในรอบนี้

คราวนี้ หันมาพิจารณากองทุน UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity ปรากฏว่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา (ถึง 27 กรกฎาคม 2021) ลดลงราวร้อยละ  14  ซึ่งถือว่าออกจะเยอะกว่าดัชนี สาเหตุคือ กองทุนนี้ ถือหุ้นเทคโนโลยีจีนอยู่หลายตัว ซึ่งบางตัวถือครองในน้ำหนักที่สูงกว่าดัชนีก็โดนผลกระทบจากผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลจีน ดังรูป ไม่ว่าจะเป็น Tencent, TAL หรือ Alibaba ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ  ทว่าทางกองทุนได้ปรับลดการถือครอง TAL จนล่าสุดจริงๆ เหลือไม่ถึง 1% เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีน้ำหนักของหุ้นกลุ่มสื่อสารอยู่ค่อนข้างมาก

162755542337

หุ้น 10 อันดับแรก ของกองทุน UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity

ที่มาภาพ: ข้อมูลล่าสุดจาก FT

ท้ายสุด กองทุน FSSA Greater China Fund ปรากฏว่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา (ถึง 27 กรกฎาคม 2021) ลดลงราวร้อยละ  7.8% ซึ่งถือว่าดีกว่าดัชนีหุ้นจีนเล็กน้อย เนื่องจากกองทุนนี้ เป็นแบบที่นอกจากลงทุนในตลาดหุ้นจีน แล้วยังลงทุนหุ้นในตลาดไต้หวัน สิงคโปร์ และสหรัฐ ซึ่งตลาดนอกเมืองจีนจะไม่โดนผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลจีน โดยกองทุนนี้ถือหุ้นในตลาดหุ้นไต้หวันในสัดส่วนมากที่สุดอีกด้วย

โดยสรุป คือ ภายใต้ช่วงที่ตลาดหุ้นจีนถูกผลกระทบจากความเสี่ยงด้านนโยบายของรัฐ ควรมองหากองทุนที่เน้นอุตสาหกรรมที่ทางการจีนน่าจะไม่ได้ดำเนินนโยบายพาดพิงถึง รวมถึงควรสนใจลงทุนในกองทุนจีนที่รวมตลาดหุ้นนอกเมืองจีนในสัดส่วนที่สูงสักหน่อยเข้ามาอยู่ด้วย.

 หมายเหตุ สนใจติดตามบทความ และปรึกษามุมมองพร้อมเลือกกองทุนรวมที่เหมาะกับตัวคุณ เพิ่มเติมได้ทาง เพจ FB: MacroView และ MacroViewBlog.com

ที่มาภาพ: Investor’s Business Daily

Comments