เจรจามาราธอน… แห่งยุโรป

1477

เจรจามาราธอนแห่งยุโรป

เหมือนทำท่าว่าการประชุมว่าด้วยเงินกองทุนฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือโควิดของยุโรป จะจบด้วยเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าที่ 3.9 แสนล้านยูโร สำหรับการเจรจาประเด็นเงินกองทุนขนาด 7.5 แสนล้านยูโร ซึ่งถือเป็นการเจรจาที่ใช้เวลายาวนานเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของสภายุโรป

โดยบทความนี้ จะขอกล่าวถึงความสำคัญ กลุ่มต่างๆ และประเด็นหลักสำหรับการประชุมในครั้งนี้ รวมถึงทิศทางของยุโรปว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนในช่วงนี้

เริ่มจาก คำถามแรก คือทำไมกองทุนนี้ถึงมีความสำคัญกับยุโรป?

คำตอบคือ หากประเมินผลกระทบจากโควิดต่อเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคต่างๆ จะพบว่ายุโรปถือเป็นภูมิภาคเดียวที่จีดีพีมีโอกาสจะหดตัวแบบตัวเลขสองหลัก ในขณะที่อัตราส่วนของมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลและธนาคารกลางของยุโรปต่ำกว่าของทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นกว่า 2 เท่าตัว โดยยุโรปมีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเงินส่วนใหญ่ มาจากธนาคารกลางยุโรปและรัฐบาลกลางของประเทศหลักของยุโรปเพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ หากโควิดระลอกสองซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้าปรากฎขึ้นในยุโรป แน่นอนว่าเศรษฐกิจยุโรปน่าจะไปแบบกู่ไม่กลับ ดังนั้นเงินกองทุนฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือโควิดของยุโรปจึงมีความสำคัญมากต่อภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมรอบนี้ มี 3 กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาประเด็นเงินกองทุนฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือโควิด ในรอบนี้ ดังนี้

หนึ่ง สเปนและอิตาลี หรือ 2 เกลอเดิมจากกลุ่ม PIGS บวกด้วยฮังการี โปแลนด์ และ สโลเวเนีย ซึ่งกลุ่มนี้ยืนยันจะให้สภายุโรปอนุมัติเงินให้เปล่าหรือ Grants ให้มากที่สุดและต้องการเงื่อนไขที่ผ่อนปรนให้กับผู้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว

สอง กลุ่มที่ชอบประหยัดงบหรือ Frugal Four อันประกอบด้วยเนเธอร์แลนด์สวีเดนเดนมาร์คและออสเตรียผนวกกับฝรั่งเศสซึ่งกลุ่มนี้ต้องการได้เงื่อนไขที่เข้มข้นต่อผู้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว

และ สาม เยอรมัน ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองกลุ่มแรก

สำหรับประเด็นหลักที่ถกเถียงกันในการประชุม ได้แก่

หนึ่ง ตัวเลขในส่วนของเงินช่วยเหลือให้เปล่า ซึ่งเดิมทีนั้น เมื่อ 2 เดือนก่อน เยอรมันและฝรั่งเศสได้เสนอให้เงินช่วยเหลือให้เปล่าในวงเงิน 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้อีก 2.5 แสนล้านยูโร

ทว่ามาถึงในการเจรจาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝั่งยุโรปใต้ อันประกอบด้วย สเปน อิตาลี บวกด้วยฮังการี โปแลนด์ และ สโลเวเนีย อนุญาตให้ยอมลดได้ ทว่าไม่ยอมให้ต่ำกว่า 4 แสนล้านยูโร ด้าน Frugal Four ต้องการให้ลงไปถึง 3.5 แสนล้านยูโร สำหรับในส่วนเงินช่วยเหลือ และอีก  3.5 แสนล้านยูโร สำหรับในส่วนเงินกู้

สอง การขอเงินคืนในบางส่วนหรือ Rebate กรณีที่จ่ายเงินให้ต่อกองทุนฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือโควิด สำหรับงบประมาณประจำปีมูลค่า 1 ล้านล้านยูโร ให้กับกลุ่ม Frugal Four และเยอรมัน โดยคาดว่าออสเตรียจะได้เงินคืนเพิ่มเป็น 2 เท่า เป็น 565 ล้านยูโร เทียบกับข้อเสนอคราวก่อน ส่วนเนเธอร์แลนด์จะได้เพิ่มเป็น 1.92 พันล้านยูโร จาก 1.57 พันล้านยูโร

และ สาม ด้าน มาร์ค รัทท์ รมต.คลัง ของเนเธอร์แลนด์ต้องการให้ เนเธอร์แลนด์สามารถมีอำนาจยับยั้งในทันทีโดยไม่ต้องโหวต สำหรับการจ่ายเงินให้ประเทศที่ต้องการเงินช่วยเหลือ โดยหากประเทศใดที่รับเงินช่วยเหลือไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ทั้งทางเศรษฐกิจและตามกฎเกณฑ์ด้านการปกครองของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางรัทท์พุ่งเป้าไปที่โปแลนด์ซึ่งมีความกังวลโดยทั่วไปถึงความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม และประเด็นประชาธิปไตยในฮังการี ซึ่งทางผู้นำฮังการี วิคเตอร์ ออร์บาน ก็เหมือนจะตอบโต้กลับขู่ว่าจะคว่ำโต๊ะการเจรจาอยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าอย่างไรเสีย ท้ายสุด ยุโรปก็น่าจะตกลงกันได้ ซึ่งล่าสุด เหมือนจะมีกระแสข่าวจากผู้นำฝรั่งเศสที่มั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น

ทั้งนี้ ด้วยสไตล์ของยุโรปคือถ้าไฟไม่ลนก้นเสียก่อน ก็จะไม่ยอมตกลงกันเสียที เหมือนสมัยวิกฤตกรีซที่เราทราบกันดี ซึ่งตรงนี้ ต้องดูว่าสถานการณ์โควิดในยุโรปว่าจะกลับมารุนแรงรอบที่สองในเร็ววันหรือไม่ และมีการขยายไปทั่วยุโรปหรือไม่ หากเกิดขึ้น การตกลงของกองทุนฟื้นฟูนี้ก็จะสามารถที่จะจบแบบเบ็ดเสร็จได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะได้ตัวเลขของเงินช่วยเหลือที่ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่การประชุมจะวงแตกก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีน้อยก็ตาม จากความแตกต่างของสไตล์ของทั้งสองกลุ่มหลัก ระหว่าง วิกเตอร์ ออร์บัน ปะทะกับ คู่หู Frugal Four อันประกอบด้วยมาร์ค รัทท์ รมต.คลัง ของเนเธอร์แลนด์ และ เซบาสเตียน เคิร์ทซ์ ของออสเตรีย ที่มีโอกาสจะทะเลาะกันจนการประชุมจบลงแบบไม่มีข้อตกลงเช่นกัน

ในภาพรวมของวิกฤตโควิดรอบนี้ ออกมาน่าจะคล้ายกับวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน ที่รัฐบาลของฝั่งยุโรปออกมาตรการช่วยเหลือล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่า

แล้วก็มาถึงคำถามสำคัญว่า แล้วในรอบนี้ จะมีประเทศไหนในยุโรป ที่จะเข้าสู่วิกฤตในเร็ววันหรือไม่?

ความเห็นของผมคือไม่น่าจะมีในเร็วๆนี้ เนื่องจากความช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลของประเทศหลักๆในยุโรป มักจะให้กับบริษัทเอกชนเพื่อที่จะไม่ให้มีการเลิกจ้างคนงานตั้งแต่ต้น ส่วนสหรัฐมักจะให้ความช่วยเหลือผู้ว่างงานโดยตรงหลังจากที่ว่างงานแล้ว จึงทำให้อัตราการว่างงานของประเทศในยุโรปโดยส่วนใหญ่ต่ำกว่าของสหรัฐ ซึ่งตรงจุดนี้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆในยุโรปอย่างน้อยในช่วงนี้ ยังไม่น่าจะเข้าสู่วิกฤตเหมือนเมื่อ 8-9 ปีก่อนครับ

Comments