ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติจีนคนใหม่?

4540

China Central Bank (CRIOnline)

ช่วงนี้ ได้ยินข่าวออกมาบ่อยๆ ว่า ทางการจีนเริ่มมีความเข้มงวดต่อระบบการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ wealth management product

ไม่ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงๆ ออกมา หรือกระทั่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ย (Rate) ของธนาคารกลางขึ้นในการทำ Open Market Operation จนกระทั่งนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน 10 ปี ของพันธบัตรรัฐบาลจีนมาสู่ระดับกว่า 4% จนตลาดหุ้นจีนร่วงลงมากว่า 2% ภายในวันเดียวเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าในปีหน้าว่า ธนาคารกลางจีนจะเข้มงวดมากกว่านี้หรือไม่ คำตอบที่ดีที่สุดคือการลองดู candidate ที่จะเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนท่านใหม่ต่อจากนายโจว เสี่ยว ฉวน ที่คาดว่าจะเข้ามารับตำแหน่งราวๆเดือนเม.ย. ปีหน้า ว่าแต่ละท่านมีความเข้มมากน้อยแค่ไหนในการดำเนินนโยบายการเงินและการกำกับสถาบันการเงิน

ท่านแรก ได้แก่ นายกัว ชูฉิง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการธนาคารของจีน วัย 61 ปี

นายกัวเพิ่งจะลงจากตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลชานตง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ใหญ่เป็นที่ 2 รองจากตำแหน่งเลขานุการของมณฑล โดยที่นายกัวเข้ามารับตำแหน่งใหม่ เพื่อมาเคลียร์ปัญหาที่สะสมอยู่ในระบบสถาบันการเงินของจีน

เขาประกาศเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาว่า จะลาออกทันทีจากตำแหน่งนี้หากไม่สามารถทำสำเร็จ

แล้วนายกัวก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง เมื่อได้ดำเนินการสั่งให้แบงก์ใหญ่ของจีนทบทวนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มบริษัท Holding Group ที่ใหญ่มาก 4 แห่ง ในวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ต้าเหลียน แวนด้า ฟอซัน HNA และ อันปัง ส่งแรงกระเทือนต่อวงการ M&A เป็นวงกว้างไปทั่วโลก

ในเชิงการบริหารนั้น เขาถือว่าเป็นผู้ที่มีนโยบายคล้ายคลึงกับนายโจวมากที่สุดในบรรดา candidate ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเนื่องจากเติบโตมาจากสายของนายจู หลง จี อดีตซาร์เศรษฐกิจของจีนในยุค 90 จึงได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนายจู ในยุคที่จีนเริ่มปฏิวัติทางเศรษฐกิจ และการเงินใหม่ๆ รวมถึง การเจรจาเข้าสู่องค์กรการค้าของโลก หรือ WTO

หากให้พิจารณาจุดเด่นจริงๆ คือ ความเด็ดขาดในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยที่คุม Agricultural Bank หรือ Ag Bank ซึ่งเป็นแบงก์รัฐที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 แห่งของจีน

ขณะที่ด้านนโยบายการเงินคล้ายคลึงกับนายโจว คือไม่ฮาร์ดคอร์มากเท่าไหร่

หลายคนมองว่านายกัวเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการธนาคาร เพื่อที่จะให้แบงก์ชาติของจีนเปลี่ยนมาเป็น Super-regulator นั่นคือคุมทั้งนโยบายการเงินและคุมแบงก์แบบเบ็ดเสร็จเหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐในตอนนี้

อย่างไรก็ดี การที่นายกัวไม่ได้ขึ้นมาเป็นเลขานุการของมณฑลในตอนต้นปี ถือว่าเป็นเครื่องหมายคำถามว่า เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรือไม่ต่อเขา ในการที่จะขึ้นเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน

ท่านที่ 2 นายเจียง ฉาวเหลียง เลขามณฑลหูเป่ย์ วัย 59 ปี  เขามีโปรไฟล์ที่คล้ายคลึงกับนายกัว คือทำงานสลับกันระหว่างการเป็นเจ้าเมือง กับบริหารแบงก์รัฐขนาดใหญ่ของจีน โดยเขาเคยบริหาร China Development bank ซึ่งเป็นแบงก์รัฐที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 แห่งของจีน

นับตั้งแต่ปี 2014 ที่นายสี จิ้น ผิง ขึ้นเป็นผู้นำของจีนเขาได้เลื่อนตำแหน่งมา 3 ครั้งแล้ว

ผลงานเด่นๆ ของเขาคือการเคลียร์การล้มละลายของ Guangdong International Trust and Investment Corporation หรือ GITIC เมื่อปี 1999  ในครั้งนั้น เขาร่วมกับนายหวัง ฉี ซาน ในการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งของจีนและต่างประเทศของ GITIC

ก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นหัวหน้าธนาคารกลางของจีนสาขาเสิ่นเจิ้น ซึ่งมีความสำคัญมากในยุค 90 

หากนายเจียงขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางจีนจริงๆ โลกการเงินตะวันตก น่าจะมีหนาว เนื่องจากฮาร์ดคอร์กว่านายโจวเสียอีก ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน คือทำอะไรก็ตาม จะมองจากมุมผลประโยชน์ของจีนเป็นหลัก

ท่านสุดท้าย ได้แก่ นายอี้ กัง ลูกหม้อแบงก์ชาติจีนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางจีน

จุดเด่นของเขาคือการศึกษาที่ถือว่าตรงสายกับตำแหน่งนี้ เหมือนกับนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดของสหรัฐมากๆ จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ในสหรัฐ และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ก่อนร่วมงานกับแบงก์ชาติจีน เมื่อปี 1997 ดำรงตำแหน่งตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการเมื่อปี 2008 มีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงินและพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษา

เมื่อปี 2015 เขาได้เปลี่ยนสูตรการคำนวณเงินหยวนของจีนให้มีความคล่องตัวในการขึ้นลงมากยิ่งขึ้น

หากนายอี้ขึ้นมา ถือว่าเป็นข่าวดีของโลกตะวันตกเนื่องจากมีปรัชญาการบริหารนโยบายการเงินใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ดี การที่เขามีโปรไฟล์นักเรียนนอกก็เป็นเหมือนดาบสองคม เนื่องจากทางการจีนไม่ชอบให้ผู้ที่ทำงาน หรือเรียนนอกประเทศจีนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด เนื่องจากกังวลว่าความคิดจะไม่เหมาะกับแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์

แม้ว่าธนาคารกลางของจีนจะไม่ได้มีอิสระ ในการกำหนดนโยบายการเงินเหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ ยังต้องฟังคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ในการให้ทิศทางนโยบาย แต่การที่จีนเริ่มเข้าสู่ตลาดการเงินโลก ทางการจีนก็จะเริ่มเรียนรู้ว่าการตัดสินใจในหน้างานที่ราคาหลักทรัพย์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยธนาคารกลางเป็นผู้ชี้ขาดเอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ในที่สุดแล้ว แบงก์ชาติจะมีอำนาจมากขึ้นๆ เมื่อเวลาผ่านไปแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

Comments